การวางแผน…
เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เราถูกสอนตั้งแต่เด็กๆว่า ชีวิตเราถ้าจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีการวางแผน
พอโตขึ้นมาเข้าสู่โลกการทำงาน เราก็เจอส่วนงาน หรือแผนกเกี่ยวกับการวางแผน สารพัดแผน ทั้ง Corporate Planning, Strategy Planning, Bla Bla Planning
แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าหลายๆคนสังเกต คือ ไม่ว่าเราจะวางแผนดีแค่ไหน สิ่งที่เราเจอจริงๆจะเป็นไปตามแผนน้อยมาก (ถึงน้อยที่สุด)
กลายเป็นเรื่องตลกทั้งน้ำตา เมื่อแผนกที่ชื่อเกี่ยวกับการวางแผน กลายเป็นแผนกที่ทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากที่สุด
ผมเลยสงสัยมั้ยว่าแล้วเราจะวางแผนไปทำไม?
…
วันก่อนที่บริษัทมีผู้บริหารระดับสูง(มาก)มาเยี่ยมที่โรงงาน
ผมได้มีโอกาสถามท่านถึงกลยุทธ์ในการบริหารการผลิตสินค้าในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบัน ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
ซึ่งแน่นอนว่าแผน Business Continuity Plan (BCP) เป็นส่วนหนึ่งที่จะพยายามที่จะครอบคลุมและลดผลกระทบทางธุรกิจจากเหตุการณ์ต่างๆ
ท่านบอกว่าแม้ความเป็นจริงจะไม่ตรงกับแผนที่วางไว้ ก็ยังจำเป็นต้องมีแผนอยู่ดี (ลองคิดภาพน้ำท่วมโรงงานโดยไม่มีแผนอะไร คงดูไม่จืด)
แต่สิ่งที่ท่านเสริมหลังจากมีแผนแล้ว คือ ความเก่งของคนที่จะปรับแผนนั้นให้เข้ากับสถานการณ์
โดยเฉพาะการให้อำนาจการตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนลงไปให้ใกล้กับหน้างานที่สุด
เพราะทีมหน้างานจะรู้สถานการณ์ดีที่สุด และแน่นอนว่าคุณต้องมั่นใจว่าเขาเก่งพอที่จะรับผิดชอบได้
พนักงานฟังแล้วซึ้งกันเลยทีเดียว…
…
ส่วนตัวผมยังเชื่อว่าการวางแผนระดับบริษัท หรือองค์กรยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี จะตรงไม่ตรงก็ต้องปรับกันไป
แต่ระดับบุคคล ผมกลับเริ่มเห็นต่างว่าชีวิตเราควร Go with the flow แล้ว Connecting the dots มากกว่าทำแผนให้ชีวิตยุ่งยากกว่าที่เป็นอยู่
(สงสัยถูกศาสดาล้างสมอง :P)
แล้วคุณล่ะ คิดว่าการวางแผนเป็นสิ่งจำเป็นมั้ย?
“He who fails to plan is planning to fail” – Winston Churchill
เคยมั้ยฟังเพื่อนขึ้นไปพูดหน้าชั้นหรือบนเวทีแล้ว คำพูดเขาเต็มไปด้วย อ่า.. อืมม.. เออ.. ก็.. แบบว่า..
ซึ่งฝรั่งเรียกคำเหล่านี้ว่าเป็น filler words (ไม่แน่ใจว่าภาษาไทยบัญญัติคำนี้ว่าอะไร)
หลายคนขำแล้วคิดว่าตัวเองพูด แล้วไม่มีคำเหล่านี้ เหมือนคนที่เราดูเค้าพูด
แต่ถ้าลองให้อัดเสียง หรือถ่ายวีดีโอมา เจ้าตัวก็อึ้ง ไม่คิดว่าตัวเองจะมีอ่าา เออ ออกมาไม่น้อยไปกว่าเพื่อนเลย
ในฐานะที่เป็นคนสอนหลักสูตร Train the Trainer กับ Effective Presentation
ผมได้บอกเสมอว่า สิ่งหนึ่งที่จะบอกได้ถึงความเป็นมืออาชีพของคนพูด คือ ดูว่าคนพูดมีคำเหล่านี้ (อ่าา, อืมม, เออ)หลุดมาระหว่างพูดมากน้อยแค่ไหน
คำที่หลุดมาโดยไม่ตั้งใจเหล่านี้ จะบ่งบอกถึงความไม่มั่นใจ และลดความน่าเชื่อถือของผู้พูด โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องสำคัญ
แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะจากประสบการณ์ คนพูดมากกว่า 80% จะมีคำเหล่านี้อยู่มากบ้าง น้อยบ้าง
คุณไม่ใช่คนผิดปกติแต่อย่างใด (ไม่เชื่อลองสังเกตคนรอบๆตัวเองดูได้)
ข่าวดี คือ เราสามารถฝึก และพัฒนาได้!
และข้อดีของการพูดโดยไม่มีคำที่ไม่สื่อความหมาย คือ จะทำให้คำพูดของเรามีพลัง และชัดเจน กับผู้ฟังมากขึ้น
วันนี้ผมได้มีโอกาสดูเทคนิคง่ายที่คุณ Chris Westfall แนะนำใน YouTube แล้วรู้สึกว่าง่าย ทำได้จริงๆ และน่าเป็นประโยชน์กับคนอื่น เลยเอามาสรุปฝากกัน
วิธีการง่ายๆเริ่มจาก
- ใส่คำ filler words เข้าไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พูดง่ายๆว่าจัดเต็ม ประชดเอาให้ มีอาา เอออ แทรกแทบทุกพยางค์ เพื่อให้เราขำและรู้ว่ามันไม่ควรมีคำที่ไม่ได้รับเชิญเหล่านี้อยู่ในประโยคที่เราจะพูด
- เลือกท่าทางไว้คอยเตือนตัวเองเวลาจะพูด filler words อาจจะเป็นเอามือแตะคาง ดึงหู แตะสูท เวลาที่กำลังจะหลุดอ่าา เอออ เพื่อเตือนตัวเองว่า ไ่ม่จำเป็นต้องพูด คำที่ไม่ต้องการเหล่านั้นออกไป
- มีภาพของเรื่องที่จะพูดในหัว แล้วเล่าภาพนั้นออกมา เพราะสาเหตุหลักของการที่เราใส่คำที่ไม่ต้องการเหล่านั้น เพราะเราพยายามนึกคำ หรือประโยคต่อไปอยู่และไม่อยากให้เงียบ วิธีแก้คือ คิดเป็นรูปภาพ แล้วเล่าแบบบรรยายภาพนั้นออกมา
สุดท้ายเทคนิคจะง่ายขนาดไหน ถ้าไม่ฝึกก็ไม่มีประโยชน์
โชคดีครับ…
เห็นมาเยอะแล้วกับคำแนะนำ และเทคนิคต่างๆเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งานสำหรับผู้ที่กำลังมองหางานอยู่
วันนี้ผมมาเล่าให้ฟังในมุมของผู้สัมภาษณ์บ้าง
ผู้สัมภาษณ์หลายคนอาจไม่รู้ตัวถึงความสำคัญของตัวเองในการสัมภาษณ์
โดยเฉพาะปัจจุบันที่หัวหน้างานมีส่วนในการสัมภาษณ์งานมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะให้ฝ่ายบุคคลจัดการตั้งแต่ลงประกาศหางาน จนOn-boarding ก่อนส่งเข้าแผนกให้หัวหน้างาน
ผมจะอธิบายเป็น 2 ส่วน คือ
- ความสำคัญของการสัมภาษณ์งานต่อบริษัท และต่อตัวผู้สัมภาษณ์ และ
- สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ควรทำ
- ทักษะในการอ่านคน จากคำถาม และเวลาที่มีจำกัด ซึ่งยิ่งมีประสบการณ์สัมภาษณ์มากขึ้น เราจะยิ่งเข้าใจสิ่งที่แฝงอยู่ในคำพูด หรือท่าทางที่อาจขัดแย้งกับสิ่งที่พูด
- เข้าใจคุณค่า(value) หรือสิ่งที่บริษัทมองหาในตัวพนักงานมากขึ้น เนื่องจากเราเป็นคนถือเกณฑ์ เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งที่บริษัทมองหาคืออะไร ซึ่งสามารถใช้ในการประเมินตัวเองได้ด้วยว่าเราใกล้เคียงมากน้อยแค่ไหน
- เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ๆมากขึ้น(in-touch with new generation) แม้ว่าเราอาจคิดว่าจบมาไม่นาน แต่ถ้าได้สัมภาษณ์เด็กที่เพิ่งจบมาตอนนี้จะเห็นถึงความแตกต่างของการใช้ชีวิตจากตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งเราต้องทำงานกับเค้าด้วยในอนาคต การเข้าใจวิธีการคิด จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น
- อ่านข้อมูลของผู้มาสัมภาษณ์ก่อนสัมภาษณ์
- ให้เกียรติผู้มาสัมภาษณ์ (มาตรงเวลา, ไม่พูดจาดูถูก, ไม่ใส่ใจคำตอบ, รับโทรศัพท์, ตอบอีเมล, ดูนาฬิกา เป็นต้น)
- ทำให้ผู้มาสัมภาษณ์คลายความเครียดในช่วงแรกก่อนเริ่มสัมภาษณ์
- ไม่ถามคำถามชี้นำ เพราะผู้มาสัมภาษณ์จะเดาได้ว่าเราอยากได้คำตอบแบบไหน
- พูดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
- ไม่แสดงความเห็นทั้งทางบวก หรือลบต่อคำตอบของผู้มาสัมภาษณ์
- นำเสนอบริษัทตัวเอง แต่ไม่ใช่ชมเว่อร์
- ขอบคุณผู้มาสัมภาษณ์ที่สนใจบริษัทและสละเวลามาสัมภาษณ์
________________________________________________________________________________ ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์
[หลังจากบทความเรื่อง Treat your intern right! ที่เขียนลง The Nation คอลัมน์ Tweeple’s Corner วันอาทิตย์ที่ผ่านมา นึกขึ้นได้ว่าน่าจะแปล(บทความตัวเอง)เป็นภาษาไทย ให้อีกหลาย ๆ คนได้อ่านด้วย ออกตัวไว้ก่อนว่าการแปลนี้ไม่ได้แปลคำต่อคำ จึงมีการตัดและเพิ่มตามความพอใจ เพราะได้รับอนุญาตจากเจ้าของบทความแล้ว :P ]
ทุกๆปี น้องๆนิสิต นักศึกษาปี 3 ส่วนใหญ่จะใช้เวลาปิดเทอมใหญ่ไปฝึกงาน ซึ่งบ้างก็ทำเพราะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร (ไม่ทำไม่จบว่างั้น) บ้างก็ต้องการสร้าง portfolio สวย ๆ สำหรับทำงาน/เรียนต่อ หรือต้องการอยากได้ประสบการณ์ทำงานจริง ๆ
แต่คุณรู้รึปล่าวว่าเด็กฝึกงานเค้าทำอะไรกัน?
ผมเชื่อว่าเราอาจเคยได้ยินตั้งแต่ไม่มีอะไรให้ทำ ชงกาแฟ ถ่ายเอกสาร ไปจนถึงทำงานที่มีคุณค่ามากๆประหยัดให้องค์กรเป็นล้าน และทำให้พี่พนักงานประจำหลายคนเริ่มร้อนๆหนาวๆกับเก้าอี้ตัวเอง… ^^”
ด้วยงานที่ทำอยู่ ทำให้ผมเห็นความสำคัญของโครงการนักศึกษาฝึกงาน ทั้งต่อตัวเด็กเอง และต่อบริษัทด้วย สำหรับน้องนิสิต-นักศึกษา นี่เป็นโอกาสแรกๆที่จะได้สัมผัสชีวิตการทำงาน ที่เราจะต้องเจออีกค่อนชีวิตหลังจากที่เราเรียนจบ ซึ่งการเรียนได้คะแนนดีๆ เกรดสวยหรูไม่ได้รับประกันความสำเร็จในการทำงาน (เป็นได้อย่างมากก็แค่ใบเบิกทางที่ดี)
นอกจากนั้นน้องจะได้ฝึกเปลี่ยนจากการแก้ปัญหาจากโจทย์ มาเป็นตั้งโจทย์ (และแก้ปัญหา)เอง และยังเป็นโอกาสที่จะได้คิดว่านี่คือลักษณะงาน หรือบริษัทที่อยากทำหลังจากจบหรือไม่ แถมถ้าโชคดีบางบริษัทก็จ่ายค่าตอบแทนน้องๆฝึกงานดีจนเพื่อนอิจฉาทีเดียว
สรุปว่าน้องๆมีแต่ได้กับได้กับการฝึกงาน แล้วบริษัทที่รับน้องๆเข้ามาล่ะ จะได้อะไรบ้าง?
หลายๆบริษัทไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่หรือมีความสำคัญถึงขนาดต้องเตรียมอะไรให้ยุ่งยาก มองเด็กฝึกงานเป็นเหมือนแรงงานราคาถูก(หรือฟรี) เลยให้งานที่ไม่มีใครอยากทำ
สุดท้ายสิ่งที่บริษัทได้ก็คือ การตอกย้ำกว่าเด็กฝึกงานไม่มีคุณค่าพอกับการลงทุนสำหรับน้องกลุ่มนี้
แต่… ถ้าบริษัทให้ความสำคัญกับทรัพยากรรุ่นเยาว์เหล่านี้โดยการให้การอบรม การงานที่เหมาะสมและมีค่า พร้อมกับคนให้คำแนะนำตอนช่วงเวลาสั้นๆของการฝึกงาน
คุณจะแปลกใจกับสิ่งที่ได้กลับมา
ไม่ว่าจะเป็น…
เงินที่ประหยัดได้จากโครงการต่างๆที่บริษัทไม่มีเวลาศึกษาหรือนำมาใช้ ซึ่งเหมาะกับนักศึกษาฝึกงานที่จะสามารถทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ มุมมองใหม่ๆจากคนนอก หลายครั้งที่ปัญหาประเภทเส้นผมบังภูเขาสามารถแก้ได้ง่ายๆด้วยการนำคนที่ไม่เคยชินกับปัญหา หรือกรอบของบริษัทเป็นคนมอง
เวลาที่บริษัทจะได้ “ดู” ว่านิสิต-นักศึกษาคนนี้เหมาะกับองค์กรในอนาคตหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากสังเกตการทำงานจริงย่อมดีกว่าการสัมภาษณ์ในเวลาสั้นๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่ถ้าบริษัททำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ
น้องๆที่ผ่านการฝึกงานไปจะเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทบอกต่อไปยังคนรอบตัวที่รู้จัก โดยเฉพาะในยุค social media ที่ทุกอย่างทั้งดีและไม่ดีกระจายได้เร็วและแรง บริษัทคงไม่อยากเห็นเด็กฝึกงานของบริษัทเขียนบน Facebook, Twitter, Google+ ว่า
“น่าเบื่อมากกกก ฝึกงานที่xxxแล้วนั่งชงกาแฟแล้วก็ Facebook ทั้งวัน เสียดายเวลา max T___T”
ใช่มั้ยครับ?
ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามโดนๆ มาช่วยกระตุ้นพลังการทำงานทุกเช้าวันจันทร์
ก่อนอื่นต้องขอสวัสดีปีใหม่ไทยทุกท่านก่อน
หวังว่าคงสนุกกันตามสมควรอย่างปลอดภัยนะครับ
วันนี้จะมาเล่าข้อคิดเรื่องของการเปลี่ยนงานใหม่
ซึ่งได้บอกกับน้องสาวตัวเองก่อนจะไปทำงานที่สิงคโปร์
เห็นว่ามีประโยชน์เลยมาเขียนแบ่งปันเพื่อน ๆ ด้วย
…………………………………………………………
ส่วนตัวผมเห็นเพื่อนๆน้องๆที่เพิ่งจบมาใหม่หลายคนเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่นในช่วงแรกๆของการทำงาน
เหตุผลก็จะวน ๆ อยู่ว่า ไม่ชอบ, ไม่ใช่, ไกล, งาน/ปัญหาเยอะ, ไม่มีเพื่อน, งานใหม่น่าจะเหมาะกว่า, งานใหม่เงินเดือนดีกว่า ฯลฯ
ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะเป็นสิทธิ์ของเรา ยิ่งหลายคนจบเกรดดี ๆ profileสวยๆ ใคร ๆ ก็อยากได้ตัว
แม้บางครั้งก็แอบแปลกใจเวลาที่เห็นคนเปลี่ยนในเดือน หรือแม้แต่อาทิตย์แรกของการทำงาน (อะไรมันจะขนาดน้าน…)
ผมมีสิ่งที่อยากให้คิดซักนิดก่อนที่จะเปลี่ยนงานใหม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียดายทีหลัง ดังนี้
- ถ้าจะเปลี่ยนงานเพราะไม่ชอบ,ไม่ใช่ ให้แน่ใจว่าเราให้เวลากับตัวเอง และพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว อย่าคาดหวังว่างานจะเหมือนกับสิ่งที่เรียนมา แม้จะทำงานตรงสายก็ตาม เรายังต้องทำความเข้าใจกับระบบ วิธีการทำงานของแต่ละบริษัทซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า2-3เดือน (เป็นอย่างน้อย) สำหรับบริษัทใหญ่ ถ้าสุดท้ายเราทั้งพยายามและให้เวลาปรับตัวแล้วยังไม่ใช่ เราก็จะตอบตัวเองได้อย่างสบายใจภายหลังว่างานนี้มันไม่เหมาะกับเราจริง ๆ
- ถ้าจะเปลี่ยนงานเพราะไกล (เออ…แล้วตอนสมัครไม่รู้เหรอครับว่าไกล) ผมรู้จักหลายคนที่จำกัดตัวเองเวลาหางานว่าต้องเป็นออฟฟิตในกรุงเทพฯ ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเอง สำหรับงานต่างหวัด หรือต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นบางคนระบุเลยว่าต้องเป็นบริษัทในแนวรถไฟฟ้าเท่านั้น! ก็อยากให้คิดนิดนึงว่าเราปิดโอกาสตัวเองมากไปรึปล่าว แต่ถ้าไกลขนาดเดินทางวันละหลาย ๆ ชั่วโมง จนเบียดบังส่วนอื่นที่สำคัญของชีวิตไปก็เปลี่ยนเถอะครับ
- ถ้าจะเปลี่ยนงานเพราะงาน/ปัญหาเยอะ ถ้างานเยอะก็หาวิธีทำงานให้ฉลาดขึ้น ถ้าปัญหาเยอะก็ให้เปลี่ยนมุมมองเป็นความท้าทายให้ผ่านไป อย่าคิดว่าเปลี่ยนที่ทำงานแล้วปัญหาที่เจอจะหายไป บอกได้เลยว่าที่ไหน ๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องผิดหวัง อาจจะต่างกันบ้างถ้าองค์กรไหนมีคนดีคนเก่งมากหน่อยก็จะช่วยกันแก้ปัญหานั้นมากกว่าโยนไปมา
- ถ้าจะเปลี่ยนงานเพราะคิดว่างานใหม่น่าจะเหมาะกว่า ก็หาข้อมูลเยอะก่อนแล้วกัน เพราะคนเรามีแนวโน้มที่จะอคติที่เก่า
- ถ้าจะเปลี่ยนงานเพราะเงินเดือน/โบนัสที่ใหม่มากกว่า ก็เป็นไปได้ แต่อยากให้ลองคิดรอบด้าน หลายๆด้านก่อนว่าที่ใหม่ดีกว่าจริงมั้ย? คนส่วนใหญ่จะติดมองอยู่แค่เงินเดือนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ โบนัสกี่เดือน แต่ไม่ได้มองสวัสดิการด้านอื่น ๆ ค่าครองชีพที่อาจสูงขึ้นถ้าทำงานในเมือง โอกาสการเข้าอบรมหรือพัฒนาต่าง ๆ โอกาสเติบโตในที่ทำงานใหม่ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม
ข้อคิดสุดท้ายสำหรับคนที่ชอบเปลี่ยนงานบ่อยๆเพื่ออัพเงินเดือนตัวเอง เป็นเงินไม่แปลกถ้าคุณจะทำได้ในช่วงแรกๆ แต่ถ้าคุณเปลี่ยนงานโดยที่รับเงินเดือนสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความสามารถคุณไม่ได้มีมากเท่าที่บริษัทใหม่คาดหวังไว้เพราะเปลี่ยนงานบ่อยจนไม่มีเวลาได้เรียนรู้, ทำงาน, สร้างnetwork, และพัฒนาตัวเองในบริษัทก่อน สุดท้ายมันจะกลับมากดดันตัวเองว่าเราทำอย่างที่บอกตอนสัมภาษณ์ไม่ได้ ขึ้นต่อก็ไม่ได้ ลดระดับลงมาก็ทำใจไม่ได้ น่าเสียดายความสามารถ
ทั้งหมดนี้ผมฝากไว้ด้วยความหวังดี เพราะแม้ผมจะเป็น HR แต่ไม่เคยรั้งพนักงานไว้ ถ้าที่ใหม่ดีและเหมาะสมกับตัวเค้าจริง ๆ
ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์