Manager as Coach Workshop: คุณรู้จักการโค้ชรึปล่าว?

“จากสเกล 0-100 คุณคิดว่าคุณเป็นโค้ชที่ดีแค่ไหน?”

คุณ Craig McKenzie ซึ่งเป็น Master coach และ facilitator ของ Workshop ได้โยนคำถามนี้ก่อนเริ่มการสอนแก่ผู้บริหารระดับสูงประมาณ 25 คน ให้มายืนเรียงกันตามลำดับความมั่นใจในการโค้ชของตัวเอง

จากการกะด้วยสายตา ผู้บริหารส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นโค้ชที่ดีประมาณ 25-50%

แต่หลังจากที่รู้ว่าการสั่ง การบอก การสอนลูกน้อง ไม่ถือว่าเป็นการโค้ช หลายคนถอยกราวลงมาเหลือไม่ถึง 25%

คุณ Craig บอกว่าการโค้ชเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ภายใต้การเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ ซึ่งผ่านกระบวนการอย่างเป็นระบบของ

  • การตั้งเป้าหมาย
  • การเริ่มหรือเปลี่ยนการกระทำที่จะปรับพฤติกรรมอย่างยั่งยืน
  • ทบทวนว่าพฤติกรรมที่เราเปลี่ยนส่งผลกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรกอย่างไร

ดูจากนิยาม ผมก็ไม่ได้แปลกใจหรือต่างจากที่คิดเท่าไหร่

ตลอด workshop 2 วัน ผมได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาผ่านกิจกรรม และแบบฝึกหัดต่างๆ รวมถึงเทคนิคการนำเสนอที่เข้าขั้นเทพมาก (ในฐานะที่เป็น Trainer เหมือนกัน)

แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ใหม่จาก workshop นี้มีจริงๆอยู่ 2-3 เรื่อง

  1. คนที่เป็นโค้ชไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในรายละเอียดของปัญหา เพราะโค้ชไม่ใช่คนตอบคำถาม หรือรู้ทุกเรื่อง โค้ชมีหน้าที่ถามคำถาม ให้อีกฝ่ายได้คิด คิดได้ด้วยตัวเอง หลายครั้งระหว่างฝึกที่เราต้องกัดลิ้นตัวเองไม่เผลอไปบอกคำตอบแม้ว่าเราจะรู้
  2. โค้ชที่ดีต้องปรับความตึงเครียด (tension) ของความสัมพันธ์ได้ดี ความตึงเครียดเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงศักยภาพของอีกฝ่าย เพราะถ้าชิวเกิน อีกฝ่ายก็จะไม่ได้ออกมาจากกรอบของตัวเอง แต่ถ้าเครียดเกินก็จะไม่มีอะไรคืบหน้าเช่นกัน
  3. การเป็นโค้ชยากกว่าที่คิด คุณต้องคอยสังเกต จุดร่วมพื้นฐาน (common ground) และความไว้วางใจ แล้วจึงปรับภาษากาย น้ำเสียง ลักษณะคำถาม ตาม เพราะถ้าความไว้ใจในตัวโค้ชไม่เกิดก็จบ นอกจากนี้สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นโค้ช คือการเอาชนะอัตตาตัวเอง เพราะหน้าที่โค้ชคือดึงศักยภาพของอีกฝ่าย ไม่ใช่ให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าโค้ชเก่ง (แต่ไม่สามารถทำให้ตัวเองเก่งขึ้นได้)

สุดท้าย ผมเชื่อว่า คนที่จะโค้ชและดึงศักยภาพของทีมงานได้ดีที่สุดคือหัวหน้างาน แต่ปัญหาคือ ทักษะการโค้ช (อย่างถูกต้อง) ซึ่งเป็นที่สิ่งที่สำคัญแต่กลับเป็นที่ขาดแคลนมากในปัจจุบัน หลายคนบอกแค่หัวหน้าสอนงานให้ทำเป็นก็บุญแล้ว ไม่ได้หวังไปไกลขนาดดึงศักยภาพอะไรเลย

คำถามคือ แล้วเราจะสู้กับประเทศอื่นอย่างไร?

 

ในชีวิตของคนทำงานกินเงินเดือนอย่างเราๆ นอกเหนือจากความมั่นคงในบริษัท ที่จะไม่ล้มละลาย หรือไล่เราออกก่อนที่เราต้องการ

ความก้าวหน้าในอาชีพเป็นอีกเรื่องที่คนส่วนใหญ่หวังไว้ในการทำงาน

คงไม่มีใครอยากจะทำงานเดิม ความรับผิดชอบเหมือนเดิม โดยไม่มีความก้าวหน้าตลอดชีวิต

อย่าว่าแต่ไม่ก้าวหน้าตลอดชีวิตเลย แค่ให้ทำงานเดิม ซ้ำๆนานกว่าที่คาดหวัง หลายคนก็จะเริ่มกระสับกระส่าย หรือแม้กระทั่งมองหางานในที่ใหม่กันแล้ว

โดยเฉพาะ Gen Y เช่นผม (เนียนได้อีก :P ) และน้องๆ ที่ความก้าวหน้ามีความหมายมากกว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น

หลายๆคนจะผูกความก้าวหน้าไว้กับการประสบความสำเร็จ การได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆและสังคม

หรือแม้แต่เป็นหนึ่งในสิ่งที่สาวๆ (หรือหนุ่ม) ใช้พิจารณาว่าจะฝากชีวิตไว้กับคนนี้ได้หรือไม่เลย!

ในมุมขององค์กร

องค์กรใหญ่ๆระดับประเทศ หรือระดับโลก เค้ามีการคิดและพัฒนาเรื่องนี้มานาน

จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Career Path (แผนภูมิเส้นทางอาชีพ) และ Career Ladder (แผนภูมิบันไดอาชีพ) ขึ้นเพื่อให้รักษาพนักงานที่เก่งไว้เพื่อทำประโยชน์กับบริษัทให้ได้มากและนานที่สุด

ที่ผ่านมาผมก็มองว่า Win-Win ได้ด้วยกันทุกฝ่าย

บริษัทก็รักษาพนักงานที่ต้องการได้

พนักงานก็ได้เห็นและกำหนดอนาคตของตัวเอง ผ่านหลักสูตรการพัฒนา และงานที่ท้าทายในรูปแบบต่างๆ

ปัญหาคือ ด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจรอบโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบคาดเดาได้ยากมากถึงมากที่สุด

ไหนจะเสถียรภาพของยูโร ไหนจะอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และอื่นๆอีกมากมาย ยังไม่นับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ

ซึ่งแน่นอนที่สุด

ธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับกลยุทธ์ รัดเข็มขัด  ปรับขนาดองค์กร หรือ ลดจำนวนพนักงาน

เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน…

ผมถึงมองว่าการฝากอนาคตไว้กับ Career Path หรือ Career Ladder ที่บริษัทวางไว้เพียงอย่างเดียว เป็นการชะล่าใจจนเกินไป

(more…)

© Tetra Images/Corbis

“เบื่อโว้ยยยย…”

“ไม่ไหวแล้วววว ทำงานจนเลิกกับแฟน แล้วก็ไม่มีเวลาไปหาใหม่เลย T_T”

“อยากทำอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ขี้เกียจ”

นี่เป็นตัวอย่างที่ผมเคยเห็นผ่านตา หรือได้ยินคนรู้จักบ่นลอยๆ ใน Social Network ต่างๆ

ผมเชื่อว่า เรื่องเหล่านี้หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ และเริ่มเคยชินกับความเครียด ความท้อ จนหลายคนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจนเจ้าตัวเองก็ไม่ทันสังเกต

แน่นอนว่าตลอดช่วงชีวิตในการทำงาน เราย่อมมีโอกาสที่จะสัมผัสทั้งความสนุก ความเครียด ท้อ หรือ หมดไฟกันบ้าง

แต่ที่สำคัญคือรู้ว่าตอนนี้เราอาการน่าเป็นห่วงแล้วหรือยัง

วันก่อนผมไปอ่านบทความเรื่องวงจรของการ Burnout (ผมแปลเองว่าหมดไฟ) ของคุณ Herbert Freudenberger ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ระยะ อาจจะเกิดพร้อมกันหรือข้ามบางระยะไปเลยก็ได้

ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจสำหรับคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเมืองและมีความเครียดสูง ไว้ใช้สังเกตตัวเองหรือคนรอบตัวได้นะครับ

ลักษณะของคนที่จะเข้าข่ายวงจรหมดไฟนี้สังเกตง่ายๆอยู่ 2 ข้อ

  • มีความทะเยอทะยาน คาดหวังกับตัวเองสูง
  • ต้องการความสมบูรณ์แบบ (perfectionist)
อ่านแล้วคุ้นๆกับตัวเองหรือคนใกล้ตัวมั้ยครับ? :D
ถ้าใช่หรือใกล้เคียง เรามาดูกันต่อว่าทั้ง 12 ระยะ มีอะไรกันบ้าง
.

ระยะที่ 1: ต้องการจะพิสูจน์ตัวเอง (A compulsion to prove oneself)

ระยะนี้มักจะเริ่มจากความทะเยอทะยานอันแรงกล้า เพื่อที่จะพิสูจน์ผลงานตัวเองกับคนอื่น ซึ่งก็ค่อนข้างจะปกติสำหรับหนุ่ม-สาวไฟแรงทั้งหลาย

 

ระยะที่ 2: ทำงานหนักขึ้น (Working Harder)

เพื่อให้ได้กับความคาดหวังที่สูงของตัวเอง ก็เริ่มทำงานหนักขึ้น ไม่กล้าปล่อยให้คนทำ เพราะกลัวงานออกมาไม่ดี และถูกหาว่าไม่รับผิดชอบ

 

ระยะที่ 3: ละเลยความต้องการของตัวเอง (Neglecting their needs)

เข้าระยะที่ 3 คนกลุ่มนี้จะไม่มีเวลาให้เรื่องที่(ตัวเองคิดว่า)ไม่สำคัญอื่นๆ เช่น กิน, นอน, เที่ยวกับเพื่อนหรือครอบครัว

 

ระยะที่ 4: รู้สึกขัดแย้ง แปลกแยก (Displacement of conflict)

มาระยะนี้ เจ้าตัวจะเริ่มรู้สึกว่าบางอย่างมันไม่ถูกแต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร หรืออะไรเป็นต้นเหตุของปัญหานั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาการที่จะแสดงออกภายนอกจะเริ่มสังเกตได้ในระยะนี้

 

ระยะที่ 5: ปรับระบบความเชื่อ (Revision of values)

เริ่มเก็บตัว หลีกเลี่ยงปัญหา และปฏิเสธความต้องการพื้นฐานด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดและระบบความเชื่อต่างๆที่เคยยึดถือ มองข้ามสิ่งที่เคยให้ความสำคัญเช่น เพื่อน หรืองานอดิเรกไป

 

ระยะที่ 6: ไม่ยอมรับปัญหา/ความขัดแย้ง (Denial of emerging conflicts)

มาระยะนี้ ความอดทนจะต่ำลง มองเพื่อนร่วมงานว่า ไม่ฉลาดเท่า ขี้เกียจ ไม่มีวินัย ทำให้ไมอยากจะไปติดต่อหรือสุงสิงด้วย และจะเริ่มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว

 

ระยะที่ 7: เลิกติดต่อกับสังคม (Withdrawal)

ในระยะนี้ เขาจะลดการติดต่อผู้อื่นให้เหลือน้อยที่สุด อยู่คนเดียวและสร้างกำแพง ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่อนาคต หรือความหวังในชีวิต

 

ระยะที่ 8: พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด (Obvious behavioral changes)

คนรอบๆตัวไม่มีใครจะมองข้ามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เจ้าตัวจะเริ่มรู้สึกกลัวและรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่ามากขึ้นเรื่อยๆ

 

ระยะที่ 9: ไม่เป็นตัวของตัวเอง (Depersonalization)

มองไม่เห็นค่าของตัวเองและคนอื่น มีชีวิตอยู่ไปวันๆ อย่างหุ่นยนต์

 

ระยะที่ 10: ข้างในว่างเปล่า (Inner emptiness)

ความรู้สึกว่างเปล่าภายในขยายตัวมากขี้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะหยุดความรู้สึกนี้ จึงจำเป็นต้องหาอะไรทำตลอดเวลา การกระทำก็จะออกแนวสุดโต่ง เช่น กินแหลก เมากระจาย เป็นต้น

 

ระยะที่ 11: ห่อเหี่ยว หดหู่ (Depression)

ในระยะนี้ ทุกอย่างรอบตัวดูหดหู่ สิ้นหวังในขีวิต และเริ่มปรากฏการอาการของโรคซึมเศร้า

 

ระยะที่ 12: หมดไฟ ใจหมดแรง (Burnout syndrome)

เกือบทุกคนที่ถึงขั้นนี้จะเคยมีความคิดฆ่าตัวตายเพื่อจะหนีปัญหา แม้จะมีไม่กี่รายที่จะฆ่าตัวตายจริงๆ แต่เขาก็จะทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสาหัส คนกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

อ่านจบแล้วมองดูตัวเอง และคนรอบๆตัว ว่ายังสบายดีอยู่รึเปล่า

อย่าปล่อยให้ถลำหมดไฟไปอย่างเดียวดายนะครับ…

 

วันนี้ผมได้มีโอกาสมาฟังสัมนาเรื่อง ความท้าทายของงาน HR ในปี 2012 จัดโดย มหาวิทยาลัยศรีปทุม บรรยายโดย คุณประสิทธิ์ องอาจตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

ผมรู้จักพี่ประสิทธิ์หรือพี่ฮิม และงานสัมนาครั้งนี้ผ่าน Facebook จึงถือว่า Social Network ก็ได้ช่วยทำหน้าที่ของมันในการช่วยขยายเครือข่ายและโอกาสดีๆอีกครั้งหนึ่ง

ในการบรรยายครั้งนี้พี่ฮิม ปล่อยของแบบไม่อั้น ยิงมุขกระจาย ความรู้เพียบ  ผมจึงของสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนมาแบ่งปันกันครับ

 

ความท้าทายบนโลกใบนี้ (more…)

การสื่อสารเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงาน โดยเฉพาะกับหัวหน้า คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับความก้าวหน้าในอาชีพการงานของเรา

สำหรับคนที่ทำงานมาซักระยะ จะรู้ว่าการสื่อสารกับหัวหน้าให้มีประสิทธิภาพนั้น ไม่ใช่แค่ พอมีเรื่องอะไรก็เดินดุ่ยๆเข้าไปหา เหมือนเพื่อนร่วมงาน

บางคนเห็นหัวหน้าหน้ามุ่ยอยู่ตลอด ก็ยิ่งเกร็ง หาจังหวะเข้าไปคุยไม่ถูก

พอเข้าไปพบ ก็พูดจาวกวนไปมา จนอาจโดนไล่ตะเพิดออกมา ทำให้ยิ่งกลัวการคุยกับหัวหน้าเข้าไปใหญ่

แน่นอนว่าการแก้ปัญหา ไม่ใช่การหลีกเลี่ยง ไม่สื่อสารกับหัวหน้า เพราะสุดท้ายคนที่เสียจะเป็นเราเอง ที่จะไม่ได้งานตามที่ควรจะเป็น

ขอออกตัวก่อนว่า การเข้าหา และสื่อสารกับหัวหน้า เป็นคนละเรื่องกับการชะเลีย แต่ไม่ทำงานนะครับ ^^”

ผมมองว่าทางแก้ปัญหานี้คือ เราควรหาวิธีเรียบเรียงคำพูดของเราอย่างไร ให้การสื่อสารกับหัวหน้านั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมมีคำถามง่ายๆ 3 คำถาม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของหัวหน้าซึ่งเวลาเป็นเงินเป็นทอง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าไปคุย

1. อะไร?

อะไรคือใจความของข้อความที่ต้องการจะบอกหัวหน้า? มีรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน? ต้องเป็นตอนนี้รึปล่าว? วิธีไหนที่จะเหมาะสมที่สุด? ส่งโน้ตบอก โทรศัพท์ หรือต้องคุยแบบเห็นหน้า เท่านั้น?

2. แล้วไง?

ทำไมหัวหน้าถึงต้องรู้เรื่องนี้? มันสำคัญกับเขายังไง?

3. แล้วยังไงต่อ?

แล้วต้องการให้หัวหน้าทำอะไรต่อหลังจากคุยกัน? บอกให้รู้เฉยๆ หรือว่าต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ

 

ถ้าเราใช้คำถามทั้ง 3 ข้อนี้ ช่วยในการเรียบเรียงคำพูด  ให้ตรงประเด็น และกระชับที่สุด ผมเชื่อว่าหัวหน้าจะต้องแปลกใจ กับวิธีการสื่อสารที่เปลี่ยนไป(ในทางที่ดีขึ้น) อย่างแน่นอนครับ

 

____________________________________________________________

ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe