ออกความเห็นในที่ประชุมให้เป็น

Businessman Raising His Hand

เวลาที่คุณไปประชุม แล้วอยากพูดเพื่อแสดงความเห็น คุณจะทำยังไง?  

ไม่ยาก เพราะมีแค่ 2 ทางเลือก คือ พูด กับ ไม่พูด

ปัญหาคือ ถ้าเราเลือกที่จะ “พูด” แต่ดันพูดไม่เป็น ผลลัพธ์ ก็อาจจะออกมาแย่กว่าไม่พูด ตั้งแต่อาจโดนมองว่าอยากดัง ความเห็นไม่เห็นมีประโยชน์ ก้าวร้าว หรือไปทับเส้นใครแล้วโดนตอกกลับหน้าหงาย

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการเลือกที่จะพูดเพื่อที่จะแสดงความเห็นของตัวเอง ก่อนที่ประสบการณ์ (แย่ๆ) จะค่อยๆบอกให้เราหุบปาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาเรายังแสดงความเห็นไม่เป็น

เมื่อโตขึ้นหลายคนจึงเลือกที่จะ “ไม่พูด” แล้วไปบ่น หรือระบายกับเพื่อนหลังประชุมเสร็จ ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์กับตัวเองและทีมเลย

ผมอ่านเจอเทคนิคการพูดเพื่อเสนอความคิดของเราในที่ประชุมจาก Chris Argyris, Harvard Business School ซึ่งผู้บริหารของ P&G พยายามนำมาใช้ (source: Playing to Win: How Strategy Really Works) โดยก่อนจะออกความเห็น ให้พูดประโยคนำนี้ก่อน

I have a view worth hearing, but I may be missing something.

ถ้าในภาษาไทยก็คงประมาณ “ผมมีไอเดียที่อยากเสนอ แต่อาจขาดอะไรไปบางอย่าง” หรืออาจใช้ประโยคอื่นที่สื่อใจความเหมือนกันแทนก็ได้

ซึ่งข้อดีของการพูดนำแบบนี้ก่อนจะออกความเห็นของเรา คือ

1. เราได้พูด แบ่งปันความเห็นของเรากับทีม และความเห็นหรือไอเดีย จะเป็นสิ่งที่เราเพิ่มคุณค่าให้กับที่ประชุม

2. เราบอกว่าสิ่งที่เราคิดและเสนอไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ห้ามเห็นต่าง ห้ามเถียง โดยการบอกว่าสิ่งที่เราเสนออาจขาดอะไรไป ซึ่งคนฟังจะไม่รู้สึกว่าเป็นการยัดเยียดให้ยอมรับความเห็นนี้ และกล้าที่จะเห็นต่าง หรือต่อยอดสิ่งที่เราพูดไป

3. เป็นการสร้างบรรยากาศให้มีการแบ่งปัน และเสริมในส่วนที่ขาด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

เห็นมั้ยครับ ประโยคนำสั้นๆเพียงประโยคเดียว สามารถเปลี่ยนการออกความเห็นของเราได้ขนาดไหน ลองเทียบกับ การออกความเห็นแบบขวานผ่านซากดู

“ผมคิดว่า……….”

“ผมว่า………”

คนฟังอาจไม่กล้าแย้ง เพราะกลัวว่าการแย้งหรือไม่เห็นด้วยกับความคิด คือ การบอกว่าคนพูดผิด  ซึ่งจากการแบ่งปันอาจกลายเป็นการโจมตีที่ตัวบุคคลโดยไม่ได้เจตนา และแน่นอนว่าไม่มีใครในที่ประชุมที่ต้องการให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

ลองฝึกดูนะครับ ได้ผลยังไงก็มาเล่าสู่กันฟังบ้าง :)

 Throng's Wedding

ช่วงนี้ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงานแต่งงานเพื่อนๆค่อนข้างบ่อย เรียกได้ว่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2-3 งาน

ซึ่งส่วนหนึ่งในงานที่ผมจะสนใจเป็นพิเศษนอกเหนือจาก เจ้าบ่าว เจ้าสาว และสาวๆในงาน คือคำอวยพรของท่านประธานต่อคู่บ่าว-สาว

แม้คนส่วนใหญ่ที่ผมสังเกตจะไม่ค่อยสนใจท่านประธาน หรือพิธีการบนเวทีเท่าไหร่ แต่ผมก็ได้รับข้อคิดดีๆจากคำอวยพรทุกครั้ง

คืนนี้ก็เช่นกัน ผมได้ไปร่วมงานแต่งงานของเจ้าสาว (ตรอง จำปาสุต) ที่เป็นเพื่อนตั้งแต่ม.ปลายที่เตรียมฯ และเจ้าบ่าว (สินธู ศตวิริยะ) ที่เคยเป็นเพื่อนร่วมงานสมัยอยู่ P&G

ประธานฝ่ายเจ้าสาวไม่ใช่ คนใหญ่คนโตที่ไหน แต่เป็นพ่อของเจ้าสาวเอง (ผศ.ดร.คมกฤช จำปาสุต)

คุณพ่อได้ให้คำอวยพรเป็นข้อคิด 5 ข้อ ที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับคู่บ่าวสาวเท่านั้น จึงขอนำมาถ่ายทอดต่อ เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย

1. ขอให้เป็นผู้ที่อยู่ในศาสนา ไม่ใช่แค่มีศาสนา ซึ่งจะทำให้เราเป็นคนดี ครอบครัวดี และสังคมดีในที่สุด

2. ขอให้เป็นผู้ที่มึความกตัญญู รู้บุญคุณของผู้มีพระคุณ ทั้งพ่อ แม่ ไปจนถึง ประเทศชาติที่เราเกิดและอาศัยอยู่ ที่สำคัญรักในหลวง เพราะเชื่อว่าไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ไหนในโลก ทรงงานเพื่อประชาชนมากกว่าในหลวงของเรา

3. ขอให้อย่าเป็นผู้อยากได้ อย่าให้แฟนทำอย่างนั้นให้ อย่างนี้ให้ แต่เป็นผู้ให้แทนผู้รับ

4. ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้อง ทั้งในฐานะ ลูก สามี ภรรยา พลเมืองที่ดีของประเทศ

5. นำทั้ง 4 ข้อนี้ไปสู่การปฏิบัติ 

ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าคนไทยทำได้อย่างนี้ ประเทศจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลย… :)

____________________________________________________________

ถ้าชอบบทสัมภาษณ์นี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe

Chut

ประเมินผลตัวเองปีนี้มาช้าไปนิด เพราะไปลันล้าอยู่สิงคโปร์ช่วงปีใหม่ ปีนี้ก็เป็นปีที่ 4 ที่ได้หาเวลามาทบทวนดูชีวิตที่ผ่านมาในปีว่ามีไฮไลต์ หรือเรื่องอะไรต้องปรับปรุงต่อไปกันบ้าง (การประเมินตัวเองในปี 2011, 2010, 2009)

โดยจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มประเมินตัวเองในปลายปี 2009 เพราะเห็นข่าวท่านประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประเมินผลงานตัวเองในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา แล้วคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับผู้นำระดับประเทศ แต่สำหรับทุกคนที่อยากมีเวลามองกลับไปในรอบปีที่ผ่านมา ก่อนจะก้าวสู่ปีใหม่

และผมแบ่งเป็นหมวดๆเช่นทุกปีที่ผ่านมาเพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ

 

สุขภาพร่างกาย (A-) 1pt up vs. Year Ago (YA)

ปีนี้เป็นปีทองของการออกกำลังกาย แม้น้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยจะขึ้นจากปลายปีที่แล้ว 2-3 กิโลกรัม แต่สามารถออกกำลังกายได้สม่ำเสมอขึ้น และร่วมรายการวิ่ง mini marathon ได้ 4 รายการ และ half marathon ครั้งแรกในชีวิตในรายการกรุงเทพมาราธอน โดยทำเวลาได้ 2.27 hr. ซึ่งเป้าหมายตอนแรกคือแค่เข้าเส้นชัย  การนอนยังสวิงระหว่างวันทำงานและวันหยุดอยู่ ตลอดปีไม่มีการเจ็บหนักเข้าโรงพยาบาล

Improvement Areas

  • ลดปริมาณของหวาน (เค้ก, ไอศครีม, Chocolate) และกาแฟ
  • ลดน้ำหนักตัวลงให้เหลือ 65 กิโลกรัม

 

การงาน (A) flat vsYA

ปีนี้ได้ย้ายงานครั้งแรกหลังจากทำที่เดิมมาเกือบ 7 ปี งานใหม่ท้าทายทั้งความรับผิดชอบที่กว้างขึ้น วัฒนธรรมองค์กรใหม่ และมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษ และเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น ดีใจที่ได้หัวหน้าดีและให้โอกาสทั้งที่เป็นคนใหม่

Improvement Areas

  • พัฒนาความรู้ HR ในส่วนที่ยังขาด และเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่อง passion ในการทำงาน และ change agent
  • ทำงานให้ได้เกินความคาดหวังของหัวหน้าและผู้ร่วมงาน

 

การเงิน (B) 1pt down vsYA

หลังจากปีที่ผ่านมาลงทุนไปเต็ม portfilo ตั้งแต่เสี่ยงน้อยสุด (บัญชีเงินฝาก) ไปจนถึงเสี่ยงมากสุด (Gold future) ทำให้รู้ว่าตัวเองเป็นแมงเม่าดีๆนี่เอง หลังจากเงินลงทุนหายไปต่อหน้าต่อตา เป็นหลัก… เฮ้อเอาเถอะ T__T  แต่ยังดีที่มีเงินสะสมไม่ขี้เหร่มาก (จริงๆควรดีกว่านี้) การใช้จ่ายเงินโชคดีที่แฟนช่วยรั้งไว้ ไม่ให้ซื้อของด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ไม่งั้นอาจได้เป็นสาวก Apple เต็มตัว :P

Improvement Areas

  • ลดระดับการลงทุนที่มีความเสี่ยงลง
  • คุมรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

 

สภาพจิตใจ (ฺA-) flat vsYA

ไม่รู้ว่าเพราะอายุมากขึ้นรึปล่าว ถึงรู้สึกเฉยๆกับเรื่องต่างๆมากขึ้น ใจไม่เหนื่อยวิ่งตามอารมณ์มากเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งบางอารมณ์ ผมมองย้อนกลับว่าที่ผ่านมาเราเป็นทาสของการตลาดเกินไป วันพิเศษต่างๆที่กำหนดขึ้น ก็เพื่อสร้างเหตุการณ์ให้คนทำตามๆกัน ซื้อของตามๆกัน ทั้งที่ทุกวันก็เป็น วันที่มีค่าเท่ากัน ไม่ต้องรอปีใหม่เพื่อเริ่มสิ่งใหม่

Improvement Areas

  • กลับมานั่งสมาธิหลังจากทำบ้าง หยุดบ้าง (ก่อนจะหยุดยาว)ในช่วงปีที่ผ่านมา
  • ฝึกให้มีสติอยู่กับตัวมากขึ้น

 

ความรัก (A) Flat vsYA

จริงก็ดีขี้นเรื่อยๆนะ มีเวลาได้อยู่ด้วยกันมากขึ้น แม้จะมีอะไรต้องปรับตัวอยู่บ้าง แต่ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น

ป.ล. ถ้าปีนี้ให้ A+ ปีหน้าจะให้อะไรล่ะ? ^^”

Improvement Areas

  • บินไปหาบ่อยๆช่วงที่อยู่ไกลกัน

 

การพัฒนาตัวเอง (A-) 1pt up vsYA

ปีนี้ก็ยังมีโอกาสอ่านหนังสือดีๆได้หลายเล่ม จากเศษเวลาต่าง (บน bts, รอเพื่อน, รอรถ, …) แถมได้รู้จักอาจารย์เก่งๆอีกหลายท่านทั้งตามงานสัมนา และในโลกออนไลน์ ซึ่งผมเชื่อว่าการได้รู้จักและพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนเก่งจะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้เร็วกว่าการลองผิดลองถูกเองเป็นไหนๆ

Improvement Areas

  • ลดเวลาเล่นเกมส์ต่างๆลง
  • พัฒนาทักษะการเขียน และการเล่าเรื่อง

 

ทำประโยชน์ให้คนอื่น (A-) flat up vsYA

การทำประโยชน์ให้คนอื่นไม่จำเป็นต้องเป็นยิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือมองว่าเป็นเรื่องที่ทำยาก ผมคิดแค่จะช่วยให้คนรอบตัวมีรอยยิ้ม ทำงานได้ง่ายขึ้น แบ่งปันความรู้ หรือเพิ่มคุณค่าด้วยวิธีต่างๆก็ถือว่าได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์แล้ว ปีนี้ได้ทำประโยชน์ผ่านการบรรยาย การประชุมระดมสมอง (ขอบคุณผู้จัดที่เชิญมานะครับ) และการเขียนเล่าผ่าน blog แห่งนี้ หรือ twitter สำหรับคำแนะนำสั้นๆ กระชับได้ใจความ

Improvement Areas

  • ช่วยงานบ้านมากกว่านี้
  • เพิ่มคุณค่าให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้มีพอแบ่งปันคนอื่น

 

สรุป (A-) flat vsYA

ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่โอเคมากๆสำหรับผม แต่ปี 2013 นี้จะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบใหญ่ ว่าจะเอาอยู่กับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตได้รึปล่าว ผมเชื่อว่าการมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ และทุกอย่างคือโอกาสให้เรียนรู้เป็นเครื่องมือที่ผมเตรียมไว้รับมือกับชีวิตข้างหน้า

ป.ล. มีหมอดูทักว่าช่วง 1-2 ปีนี้ชีวิตจะรุ่งโรจน์มาก มารอดูกันว่าหมอดูแล้วรอให้เกิดหรือจะสู้ชีวิตลิขิตเอง

Employee Performance Evaluations

“การประเมินผลงานจะให้เทียบกับอะไร ถ้าไม่ใช่เป้าหมาย?” ผมตอบไปอย่างไม่ลังเลกับคำถามที่หัวหน้าเปิดประเด็นมา

“จริงเหรอ?” คำตอบสั้นๆ ของหัวหน้าทำให้ผมลังเล

แล้วหัวหน้าแชร์และแลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องการประเมินผลงาน ซึ่งทำให้ผมมองเห็นอีกมุมของงานวัดผลงานเทียบกับเป้าหมายที่ตั้ง

ซึ่งผมเชื่อว่าองค์กรส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีนี้

ถามว่าจุดอ่อนของการประเมินผลเทียบกับเป้าหมายคืออะไร?

สมมติง่ายๆ เช่น ปีที่แล้วนาย ช. ทำยอดขายได้ 100 บาท ปีนี้บริษัทต้องการโต 15% เลยกำหนดเป็นเป้าหมายให้ นาย ช. ขายให้ได้ 115 บาท

แต่จบปี นาย ช. ขายได้ 112 บาท

ถ้าประเมินผลเทียบกับเป้าหมาย แน่นอนว่า นาย ช. ทำไม่ได้ดีตามความคาดหวัง ซึ่งอาจจะกระทบกับเงินเดือนที่จะขึ้น การเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น

ถามว่า นาย ช. ไม่เก่งใช่มั้ย?

ถามว่า บริษัทจะกระตุ้น (motivate) นาย ช. ที่ผิดหวังจากการพยายามทำงานเต็มที่จนดีกว่าปีที่แล้ว 12% แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไร?

ถามว่า เป้าหมายนี้ใครตั้ง? ผู้จัดการ? ผู้อำนวยการ? CEO? แล้วคนเหล่านี้ก็อยากทำผลงานให้ดีในสายตาของนาย ซึ่งอาจเป็นหัวหน้าระดับที่สูงขึ้น หรือผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ใช่หรือไม่?

ถามว่า เป้าหมายขององค์กร ซึ่งสุดท้ายจะกระจายมาเป็นเป้าหมายของหน่วยงาน และของพนักงานแต่ละคนในที่สุด ถูกกำหนดโดยคนซึ่งก็เป็นมนุษย์ ก็มีความเป็นไปได้ว่า การตั้งเป้าหมายนั้น อาจมีอคติส่วนตัว เพื่อจะ “เล่น” กับการตั้งเป้าหมาย และทำให้ผลงานออกมาดีโดยไม่ต้องทำสุดความสามารถ แต่ยังทำผลงานได้เกินเป้า (under promise, over deliver) หรือไม่?

เรื่องนี้จริงๆคงเถียงกันได้ยาว เพียงแต่อยากให้คิดอีกมุมว่า การวัดหรือประเมินผลงานที่เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ อาจไม่ใช่วิธีการขับเคลื่อนองค์กร และจูงใจให้พนักงานทำงานอย่างเต็มที่สุดความสามารถ

คุณล่ะ คิดว่าเราควรประเมินผลงานของพนักงานเทียบกับอะไร ถึงจะเหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดทั้งต่อพนักงาน และบริษัท?

ไปฟังสัมมนาวันก่อนหัวข้อ THINK Forum: A New Brand of Leadership for a New Kind of Economy จัดโดย IBM ร่วมกับ กรุงเทพธุรกิจ

มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการบริหารภายใต้ข้อจำกัด โดย ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

ผมฟังแล้วคิดว่าน่าจะมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโลกที่เราอยู่มีแนวโน้มที่จะวิ่งความต้องการที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากขึ้น

คนส่วนใหญ่จะเคยชินกับการต้องเลือก เอาอย่างใด อย่างหนึ่ง

เช่น อยากได้ต้นทุนถูกก็ต้องผลิตครั้งๆมากๆ (ราคา หรือ ความหลากหลาย)

อยากได้ของดีๆก็ต้องคอยหน่อย (คุณภาพ หรือ เวลา)

หรือ งานเพิ่มก็ต้องขอคนเพิ่ม (งาน หรือ จำนวนคน) เป็นต้น

แต่ปัจจุบัน เราจะได้สัมผัสความต้องการที่เหมือนจะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว หรือขอในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

จะเอาของหลายแบบให้ลูกค้าเลือก แต่ราคาต้องถูกลง (ราคา และ ความหลากหลาย)

เร่งเอางานเร็วขึ้นกว่ากำหนดที่ตกลง แต่งานต้องเนี้ยบเหมือนเดิม (คุณภาพ และ เวลา)

งานเพิ่มขึ้น คนลาออก แต่ไม่รับแทน (งาน และ จำนวนคน)

ถ้าเรามองในกรอบเล็กๆที่เราอยู่ อาจจะรู้สึกว่า บริษัทเอาเปรียบเราจัง บริษัทอื่นคงไม่มีที่ไหนโหดไปกว่านี้อีกแล้ว

ถ้าเขยิบถอยมาดูหน่อย จะพบว่าเพื่อนๆในบริษัทอื่น หรือแวดวงอื่นอยู่อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกันมาก

และถ้าขยับถอยมาไกลอีกหน่อย จะเห็นว่าทั้งโลกกำลังประสบเหตุการณ์นี้เหมือนกันหมด จะมากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับกลุ่มธุรกิจ

แปลว่าอะไร?

แปลว่า #โลกนี้ชักอยู่ยากขึ้นทุกวัน รึปล่าว?

ผมชอบคำที่ ดร.สุวิทย์ เปรียบเทียบว่าส่วนใหญ่เรามองปัญหาเหมือนการต่อจิ๊กซอ พยายามที่จะชิ้นส่วนที่หายไป

ถ้าชิ้นส่วนไม่ครบเราก็จะต่อรูปที่ต้องการไม่ได้ (ชิ้นส่วนครบ หรือ ภาพสมบูรณ์)

ในขณะที่การแก้ปัญหาปัจจุบันเหมือนการต่อ แทนแกรม (Tangrams) ตัวต่อที่มีจำกัดอยู่แค่ 7 ชิ้น

แต่กลับต่อเป็นรูปต่างๆได้มากมาย

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหรือบริหารภายใต้โจทย์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด

ไม่ว่าจะเป็นคนจำกัด

ความรู้จำกัด

เวลาจำกัด

หรืองบจำกัด

ให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ

แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่หรือ?

…..

สำหรับผมตัวอย่างเรื่องตัวต่อจิ๊กซอ กับ ตัวต่อ แทนแกรม ทำให้เกิด paradigm shift ในการมองปัญหาและการบริหารงานภายใต้ข้อจำกัด

คุณล่ะ? มองข้อจำกัดยังไง?