สัปดาห์ก่อนผมได้ไปร่วมงาน Strategy Essential Summit 2020 ซึ่งจัดโดยอ.ธนัย ชรินทร์สาร ซึ่งในบรรดาข้อมูล เทรนด์ และเรื่องราวต่างๆ ที่มีประโยชน์อัดแน่นทั้งวันจากทั้งอ.ธนัย และแขกรับเชิญในวันนั้น เรื่องที่ผมชอบ และจำได้ดีที่สุดคือเรื่อง คนขับบอลลูน
อ.ธนัยเล่าว่านักกลยุทธ์ส่วนใหญ่มักทำตัวเหมือน นักบิน ขับเครื่องบินจากจุดเริ่มต้น ไปถึงจุดหมายที่แน่นอน ระหว่างทางอาจมีลมพายุบ้าง นักบินก็ขับหลบหลีก พาเครื่องบินไปสู่จุดหมายปลายทางได้
เปรียบได้กับนักกลยุทธ์ที่รู้ว่าสภาพปัจจุบันขององค์กรเป็นอย่างไร (As-Is) และเป้าหมายขององค์กรที่จะไปคืออะไร (To-Be) นักกลยุทธ์ก็วางแผนเพื่อพาองค์กรไปถึงจุดนั้น
การเป็นนักกลยุทธ์แบบนักบินก็ไม่มีอะไรผิดปกติถ้า สถานการณ์ต่างๆ ในโลกค่อนข้างเสถียร และคาดเดาได้เหมือน 40-50 ปีที่ผ่านมา
ด้วยโลกเปลี่ยนไปทั้งความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความไม่ชัดเจน (Ambiguity) หรือที่หลายคนเรียกตัวย่อว่า VUCA คุณอาจเป็นนักบินที่ตั้งใจจะพาเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ แต่ระหว่างทางเชียงใหม่หายไปทั้งจังหวัด
เทียบกับนักกลยุทธ์ที่จะพาองค์กรไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ถูก Disrupt ธุรกิจที่ทำอยู่ไม่มีคนต้องการอีกต่อไปคุณจะทำอย่างไร
เมื่ออยู่ในความไม่แน่นอนต้องมองไกล มองให้ยาวแบบ multiple futures
อ.ธนัย ชรินทร์สาร
ซึ่งสิ่งที่อ.ธนัยแนะนำมีลักษณะคล้ายคนขับบอลลูน ที่พาบอลลูนขึ้นจากที่หนึ่ง ไปลงอีกที่หนึ่ง (ซึ่งไม่รู้ว่าที่ไหน) อย่างปลอดภัย
เพราะอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ นักกลยุทธ์ควรมองให้ยาว ไม่ติด หรือโดนเหตุการณ์ปัจจุบันบังจนไม่เห็นแนวโน้มระยะยาว เพื่อออกแบบอนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ และพาองค์กรดั่งบอลลูนลอยผ่านไปลงในจุดที่ปลอดภัย ตามแต่สถานการณ์ที่ผันผวนและคาดเดาได้ยากในอนาคต
ผมขอจบเรื่องนี้ด้วยอีกประโยคของอ.ธนัยที่ทำให้ผมรู้สึกมีความหวังขึ้นกับอนาคตในยุค VUCA world
With multiple futures, you can decide your future.
อ.ธนัย ชรินทร์สาร