**Disclosure: บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)**
เพราะคนที่ผ่านการแต่งงานแล้วจะรู้ว่า ชีวิตคู่หลังการแต่งงานอาจไม่ใช่ Happy Ending แบบในหนัง และสิ่งหนึ่งที่จะส่งผลโดยตรงกับความสุขของชีวิตคู่ (นอกจากความรักที่มีให้กัน) คือ สถานะทางการเงินของครอบครัว
ผมเป็นคนหนึ่งที่ก่อนแต่งงาน ไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มาก แค่ให้แน่ใจว่า กันส่วนหนึ่งสำหรับการออมและลงทุน และใช้เงินไม่เกินตัว มีเงินเก็บก็คิดว่าพอแล้ว
แต่เมื่อแต่งงานแล้ว เรามีเรื่องต้องคิดเกี่ยวกับอนาคตมากขึ้น และไม่ใช่แค่อนาคตของเราคนเดียว
สำหรับคนที่ไม่เคยคิดเรื่องการเงินมาก่อน อาจจะกลัวจนไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ผมมี 3 เทคนิคบริหารเงินในครอบครัวแบบผู้บริหารมาเสนอครับ
ถ้าเรามองเรื่องการบริหารการเงินในครอบครัว ในมุมมองของผู้บริหาร (สมมติว่าคุณเป็น #พ่อบ้านใจกล้า มีโอกาสได้บริหารเงินของครอบครัว) เราอาจใช้เครื่องมือที่เรียกว่า As-is To-be Analysis ซึ่งจะช่วยให้เรามองเรื่องนี้เป็น 3 ส่วน ทำทีละขั้นได้ชัดเจนขึ้น ไม่วนไปเวียนมาให้งง คือ
- สถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (As-is)
- สถานะในอนาคตที่อยากให้เป็น (To-be)
- วิธีที่จะไปถึงสถานะที่อยากให้เป็นในอนาคต (How to get there?)
- สถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (As-is)
ก่อนจะเริ่มวางแผน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เราควรต้องรู้ก่อนว่า สถานะปัจจุบันเรา (อย่าลืมนับคู่ชีวิตเราด้วย) ว่า เป็นอย่างไร วิกฤตแค่ไหน ถ้าพูดเรื่องการเงิน คุณรู้รายรับ รายจ่ายของครอบครัว รวมถึงทรัพย์สิน หนี้สินทั้งหมดที่มีหรือไม่ ถ้าไปลงทุนไว้ เรารู้รึไม่ว่า ผลตอบแทนเท่าไหร่ เงินที่ฝากประจำไว้ครบกำหนดเมื่อไหร่ ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานของการเงินครอบครัวที่ดี
- สถานะในอนาคตที่อยากให้เป็น (To-be)
หลังจากรู้ข้อมูลพื้นฐานด้านการเงินของครอบครัวเราแล้ว หาเวลานั่งคุยกับศรีภรรยา (หรือยอดสามี) ว่า อยากให้อนาคตของเราเป็นอย่างไร พยายามจดออกมาให้มาที่สุด โดยเริ่มจากปัจจัยที่จะส่งผลกับการเงินหลัก ๆ เช่น จำนวนของลูก บ้าน รถยนต์ จำนวนเงินฉุกเฉิน มีภาระผ่อนหรือต้องกู้อะไรหรือไม่ แล้วค่อย ๆ ไล่ลงมาถึงลักษณะค่าใช้จ่ายจากการใช้ชีวิต (Lifestyle) แล้วตีกลับมาเป็นตัวเงินว่า ถ้าเราต้องการทุกอย่างที่เขียนมา ต้องมีรายรับ หรือทรัพย์สินมากน้อยเท่าไหร่?
- วิธีที่จะไปถึงสถานะที่อยากให้เป็นในอนาคต (How to get there?)
หลังจากเรารู้ว่าสถานะทางการเงินในปัจจุบันของครอบครัวเราเป็นอย่างไรในขั้นแรก และวาดฝันสิ่งที่อยากจะได้ อยากจะมีในขั้นที่สอง เราจะมีข้อมูลมากพอที่จะเห็นช่องว่างระหว่างสถานะที่เป็นกับความฝันที่อยากมีในขั้นที่สาม ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่หลายคนไม่อยากยอมรับว่า ความฝันอยู่ห่างจากสถานะความเป็นจริงในปัจจุบันแค่ไหน แต่เป็นขั้นที่สำคัญมากที่จะก้าวไปถึงเป้าหมาย
วิธีการไปถึงเป้าหมายทำได้ตั้งแต่ดูรายการที่เราอยากได้ อยากมีอีกที แล้วถามว่า เราต้องการสิ่งเหล่านี้จริง ๆ หรือเปล่า หลังจากยืนยันว่ารายการที่เหลือคือสิ่งที่จำเป็นที่ครอบครัวต้องการในอนาคต เราจะมามองถึงวิธีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
สิ่งที่ผมอยากแนะนำในการเพิ่มรายได้ คือ การหาความรู้ในการลงทุน ถ้าอยากให้เงินที่เราหามาด้วยความยากลำบากงอกเงย อย่าเชื่อและฝากเงินไว้กับคนอื่นโดยเราไม่รู้เรื่องนั้น การหาความรู้นั้นปัจจุบันก็ทำได้หลายทางทั้งหนังสือ website ที่รวบรวมความรู้ด้านการเงินการลงทุน การอบรม เพราะฉะนั้น อย่าลงทุนโดยปราศจากความรู้ เพราะวิธีนั้นแทบไม่ต่างกับการเล่นการพนันเลย
โชคดีในการบริหารเงินในครอบครัวนะครับ
________________________________________________________________________________
ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์