เปลี่ยนนิยามความล้มเหลว

From all around / 22 October 2014 / 206

Portrait of a wistful overweight man sitting on floor with exerc

 

ถ้าถามคนที่เคยตั้งเป้าหมาย ทั้งเรื่องงาน (ขอย้ายแผนก หางานใหม่ Project ที่น่าสนใจ) หรือเรื่องส่วนตัว (เก็บเงิน ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย) ว่าทำไมถึงยังไม่สำเร็จ เรามักจะได้ยินคำตอบอยู่ 2 ประเภท คือ

1. มีสารพัดข้ออ้างจนไม่ได้เริ่ม

2. เริ่มไปแล้วแต่เจอปัญหา ก็ท้อ คิดว่าคงไม่สำเร็จหรอก แล้วก็เลิกไป

ผมเองก็เจอเองกับตัวหลายเรื่อง และหลายรอบในเรื่องเดิมๆด้วย บางเรื่องก็ลองแล้วก็ไม่สำเร็จจนจะถอดใจไม่ทำอยู่แล้ว

แต่เชื่อมั้ยครับ ว่าถ้าเราเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหา และความล้มเหลวนิดเดียว ภาพเปลี่ยนเลย

มาดูกันทีละข้อ

1. มีสารพัดข้ออ้างจนไม่ได้เริ่ม

คนส่วนมากไม่กล้าเริ่ม เพราะกลัวความล้มเหลว กลัวพลาด ซึ่งก็มีความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะต่อให้เราจะทำตามแผนทุกอย่างที่วางไว้ ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ล้มเหลว เพราะสารพัดปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ จริงที่เราควบคุมได้จริงๆคือ “สิ่งที่เราทำ”

แต่ถ้าเรานิยาม “ความล้มเหลว” ใหม่เป็น “ความล้มเหลวในการลงมือทำ”

การนิยามแบบนี้ทำให้ความล้มเหลวมีกรณีเดียวเท่านั้น

คือไม่ลงมือทำ ซึ่งเรากำหนดได้ 100%

ตราบใดที่เราพยายามเพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย เราก็ยังไม่ล้มเหลว

เราประสบความสำเร็จในการลงมือทำเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น

2. เริ่มไปแล้วแต่เจอปัญหา แล้วท้อ

มีไม่น้อยที่พอลงมือทำแล้ว (ผ่านข้อแรกมาเรียบร้อย) พอเจอปัญหาก็เริ่มใจแป๊ว

จะรอดมั้ยหว่า?

ใจคิดไปไกลว่าปัญหา หรืออุปสรรคที่เจอเป็นสัญญาณของความล้มเหลวแน่

ให้ลองมองใหม่ว่า ปัญหาหรืออุปสรรคที่เจอเป็นเหมือน สัญญาณ

ใช่ครับ สัญญาณ แต่ไม่ใช่สัญญาณของความล้มเหลว แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำไปสู่เป้าหมาย

 

ตอนที่ผมอ่านเจอแนวคิดการนิยามความล้มเหลวใหม่นี้ รู้สึกปิ๊งเลย (paradigm shift)

เป็นคำนิยามที่ช่วยลดความกดดัน ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เราลงมือทำ ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดก่อนการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง

 

คำถาม: นิยามความล้มเหลวใหม่นี้ช่วยคุณได้อย่างไร?