You cannot absorb other people’s knowledge. You must create your own.
– Klas Mellander
ผมมีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาโต๊ะกลมหัวข้อ “LEARN OR LOSE in the age of digital disruption” ซึ่งจัดโดย ENPEO ร่วมกับ OMEGAWORLDCLASS โดย highlight อยู่ที่คุณ Klas Mellander co-founder และ Chief Designer ของบริษัท Celemi จากสวีเดน ซึ่งผมรู้จักผลงานผ่าน Business Simulation Board Game มาหลายปี ถือได้ว่าเป็นกูรูด้าน Learning Design คนหนึ่งของโลก
ในการสัมมนามีการพูดถึงการเรียนรู้ในโลกยุค Digital Disruption ที่ในด้านหนึ่ง คนทำงานก็มีเวลาน้อยลงสำหรับการเรียนรู้แบบ Formal Learning ซึ่งการงานวิจัยหนึ่งระบุว่า พนักงานมีเวลาเรียนเฉลี่ย 24 นาที / สัปดาห์ และอีกด้านหนึ่งเรากำลังเผชิญกับความรู้ และทักษะใหม่ๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำให้ Half-life ของทักษะต่างๆ ในปัจจุบันที่เราเรียนมาอยู่ที่ 5 ปี และกำลังลดลงเรื่อยๆ
Online vs. Offline Learning
หลายคนคงคิดว่า Digital Learning Platform เช่น eLearning, mLearning จะมาตอบโจทย์ปัญหาการเรียนรู้ในยุค digital disruption เพราะตอบโจทย์ในแง่การเรียนรู้เมื่อไหร่ก็ได้ (on-demand) และเป็นการเรียนตอนละสั้นๆ (Bite-size Learning) ไม่เสียเวลามาก ซึ่งเป็นข้อดี และเหมาะสำหรับการเรียนรู้ทักษะพื้นฐาน หรือ Functional Skill ในการทำงานส่วนใหญ่
แต่การเข้ามาของ Digital Learning Platform ก็ไม่ได้จะแทนที่ Classroom Training หรือ Workshop ที่เราคุ้นเคยได้ทั้งหมด เพราะการเรียนรู้ Human Skill หรือ Soft Skill เช่น ทักษะการสื่อสาร หรือทักษะการเป็นผู้นำ ถ้าจะเรียนรู้ให้ได้ผลดี จำเป็นต้องมีประสบการณ์ปฏิสัมพันธ์กัน (Human Interaction)
ดังนั้นถ้ามองแนวโน้มการเรียนรู้ในอนาคต เราจะเห็นการใช้ Digital Learning Platform มากขึ้นโดยเฉพาะกับพนักงานแรกเข้า จนถึงผู้บริหารระดับกลาง ก่อนจะค่อยๆ ลดลง โดยมีการเรียนรู้แบบ face-to-face เข้ามาเพิ่มขึ้นจนถึงระดับผู้บริหารระดับสูง ที่การเรียนรู้ทั้งหมดแทบจะเป็นผ่าน workshop ที่ปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละบุคคล
Intuitive Learning
ประเด็นหนึ่งที่คุณ Klas แชร์ที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือการออกแบบการเรียนรู้ ตามธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ แล้วถอดบทเรียนเป็นสิ่งที่ใช้ในการออกแบบ
ถ้าลองนึกถึงเวลาเราได้ของขวัญเป็น Gadget ใหม่จนถึงเข้าใจและสนุกกับการเล่นได้ จะผ่าน 5 ขั้นตอน ซึ่งถ้าสะดุดที่ขั้นไหน การเรียนรู้ก็จะไม่สมบูรณ์ เมื่อถอดเป็นกระบวนการเรียนรู้จะได้ว่า
-
ถ้าหัวข้อต้องน่าสนใจ และเห็นประโยชน์จากการเรียนรู้นั้น
-
เนื้อหาที่เข้าใจง่าย ไม่ทำให้สับสน
-
กระตุ้นให้คนเรียนอยากรู้เพิ่มเติม และช่วยเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ (connect the dots)
-
เข้าใจผ่านการลงมือทำ และเป็นภาพใหญ่ของการเรียนรู้นี้
-
ได้นำความรู้ที่ได้ใหม่ไปปฏิบัติ
ผมเชื่อเช่นกันว่าการเรียนรู้ที่ดี ต้องไม่ฝึนกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเรา ถ้าใครจะหลักนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เรียนไม่น้อย
The Learning Spiral
สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ การเรียนรู้ไม่ใช่การทำครบ 5 องค์ประกอบแล้วจบ แต่ต้องประเมินว่าการเรียนรู้นั้นคุ้มค่า หรือตอบโจทย์ของเราหรือไม่ ถ้าใช่เราก็กลับมาเรียนรู้เพิ่มเติมเป็น Loop ใหม่ไปเรื่อยๆ โดยความรู้ และทักษะของเราก็จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็น The Learning Spiral
นอกจากเรื่อง The Learning Spiral คุณ Klas จะพูดถึงเรื่องอุปสรรคการเรียนรู้และมีโอกาสได้ทดลอง Business Simulation สั้นๆ เพื่อเข้าใจการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) ทำให้ผมและคนที่เข้าร่วมงานได้เข้าใจภาพมากขึ้น
หลังจากจบ session ผมมีโอกาสได้ร่วมโต๊ะทานอาหารกับคุณ Klas ทำให้รู้ว่าแม้ว่าปีนี้แกจะอายุ 73 ปีแล้ว แต่ยังคงความอยากรู้ อยากเห็นแบบเด็ก และเปิดใจในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ อย่างน่าแปลกใจ และยังมีไหวพริบดีเยี่ยม มีมุกแพรวพราวมากอีกด้วย :)
ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามโดนๆ มาช่วยกระตุ้นพลังการทำงานทุกเช้าวันจันทร์