ฝึกวิธีคิดแบบสายลับ CIA

From all around / 28 August 2016 / 539

Spy

เวลาผมดูหนังสายลับ ไม่ว่าจะเป็น James Bond,  Mission Impossible, Jason Bourne นอกเหนือจากอุปกรณ์ gadget เท่ ๆ สิ่งหนึ่งที่ผมอดทึ่งไม่ได้ คือ ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ความกดดันและเวลาที่จำกัด ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง

วันก่อนผมอ่านหนังสือสั้น ๆ เล่มหนึ่ง เขียนโดยอดีต CIA เล่าเรื่องวิธีการคิดของสายลับ ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ และเอามาใช้ได้จริง เลยขอถอดกระบวนวิธีคิดของสายลับมาเล่าสู่กันฟัง

พูดถึงวิธีการคิด ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน (รวมถึงผมด้วย) เริ่มจากการหาข้อมูล เพื่อหาทางเลือก และประกอบการตัดสินใจ ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง

ปัญหาที่เราเจอในปัจจุบันไม่ใช่หาข้อมูลที่ต้องการได้ยาก แต่เป็นตรงกันข้ามคือข้อมูลเยอะมาก จนไม่รู้จะเริ่มตรงไหน หรือเท่าไหร่ถึงจะพอ

หลายครั้งที่เราติดอยู่ที่ขั้นนี้ ใช้เวลาเก็บข้อมูลมาก มีข้อมูลเยอะแยะ แต่ก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ เพราะไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่เรามีครอบคลุมทุกทางเลือกหรือยัง

สำหรับวิธีการคิดของสายลับ ซึ่งปรับมาจากวิธีทดลองของนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เริ่มจากการเก็บข้อมูล

ถ้าเราจำการทดลองสมัยมัธยมได้ กระบวนการทดลองไม่ได้เริ่มจากการเก็บข้อมูล แต่เริ่มจากการสร้างสมมติฐานก่อน

เช่น แสงแดดมีผลต่อการงอกของถั่วเขียว เป็นต้น

เมื่อได้สมมติฐาน ถึงจะเริ่มทำการทดลองเก็บข้อมูล ปลูกถั่วเขียวในห้องมืด เทียบกับปลูกในห้องปกติ แล้วจดบันทึกการงอกก็ว่าไป ก่อนนำข้อมูลที่เก็บมาวิเคราะห์ สรุปผล และตัดสินใจว่าสมมติฐานที่ตั้งไว้ถูกต้องหรือไม่

กระบวนการคิดของสายลับ CIA ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยมีลำดับดังนี้

Data – Analysis – Decision – Action

แต่ก่อนที่สายลับจะเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แล้วส่งต่อให้ “ผู้ใหญ่” หรือคนที่เกี่ยวข้อง เราต้องถอยมาดูภาพใหญ่ เพื่อหาจุดเริ่มของงานสายลับ ซึ่งคือข้อมูลที่คนที่มีอำนาจตัดสินใจต้องการ

สิ่งที่คนที่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องการจะรู้เพื่อตัดสินใจ มักจะมาในรูปคำถาม

จากคำถามถึงจะแปลงมาเป็นข้อมูลที่ต้องการ (ให้สายลับไปหา) เพื่อวิเคราะห์ และส่งกลับให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติ ดังกระบวนการข้างล่าง

DADA model

กระบวนการคิดแบบนี้สามารถมองได้ทั้งในภาพใหญ่ที่แต่ละขั้นตอนคือคนละหน่วยงาน เช่น

นายพล (Decision Maker) อยากรู้ความพร้อมในการรบของกองกำลังอีกฝ่าย (Questions) หน่วยข่าวกรองก็ส่งสายลับ เข้าไปเก็บข้อมูลที่จำเป็น (Data) และวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) ก่อนจะส่งผลไปให้นายพลตัดสินใจ (Decision) และสังการ (Action)

หรือสามารถใช้ในการคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ในเวลาไม่กี่วินาที เช่น

เรา (Decision Maker) เจอแมลงสาบในห้องน้ำ ควรจะตีหรือหนีดี (Questions) มองดูขนาดห้องน้ำซึ่งมีขนาดเล็ก และแมลงสาบที่มีขนาดใหญ่พร้อมปีกที่พร้อมบิน (Data) ถ้าแมลงสาบบินก็จะบินแบบไร้ทิศทาง และมีโอกาสตีพลาดสูง (Analysis) เห็นเช่นนั้นก็ตัดสินใจหนี (Decision) และวิ่งออกจากห้องน้ำโดยพลัน (Action)

ตัวอย่างนี้อาจดูตลก แต่กระบวนการคิดแบบสายลับที่เริ่มจากคำถามจะช่วยให้เราประหยัดเวลาในการหาข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ

ข้อมูล และการวิเคราะห์ของเราจะตอบคำถามเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ และการกระทำที่ทันท่วงที ซึ่งเป็นปัจจัยในที่สำคัญที่สุดในกระบวนการคิด

ถ้าการคิดไม่นำไปสู่การตัดสินใจ และการกระทำ สิ่งที่เราคิดและทำมาทั้งหมดทั้งการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย

มีความเห็นอย่างไรกับวิธีคิดแบบสายลับอย่าลืม comment แบ่งปันไว้ข้างล่างนะครับ

________________________________________________________________________________
ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe