ถ้าพูดถึงบริษัทอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ น้อยคนที่จะไม่รู้จักสินค้าจากบริษัท Proctor & Gamble (P&G) วันนี้ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้บริหารคนเก่ง คุณกรรณิการ์ จรัสอุไรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลักดันกิจกรรม CSR ของบริษัทจนได้รับรางวัล “องค์กร CSR เป็นเลิศ” ปี 2558 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รางวัล “Best Communication Campaign 2015” จากองค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และอีกหลายรางวัล นอกจากเรื่อง CSR ที่ทำอยู่ผมยังได้คุยถึงเรื่องอื่น ๆ พร้อมขอเทคนิคในการทำงานมาฝากกันด้วย
_____________________________________________________________________________
สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้
- CSR คือเรื่องที่ฉาบฉวย?
- ปัจจัยที่ทำให้กล้าการรับโอกาส ความรับผิดชอบใหม่ๆ แม้ไม่มีประสบการณ์ตรง
- การวางตัวสำหรับคนทำงาน
- 2 คำถามที่ควรถามตัวเองหากอยากทำงานในองค์กรอย่างมีความสุขได้นานๆ
- การจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวสำหรับสาวทำงาน
_____________________________________________________________________________
ช่วยแนะนำตัว และเส้นทางการทำงานคร่าว ๆ ให้ผู้อ่านซักนิด
พี่เกียง กรรณิการ์ จรัสอุไรสิน พี่เรียนจบคณะเภสัชฯ จุฬาฯ แล้วไปต่อปริญญาโทที่นิด้าในด้านของเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ หลังจากเรียนจบ ได้ไปทำงานที่โรงพยาบาล ในจังหวัดสระบุรี 2 ปี จึงเข้าสู่วงการยา โดยเริ่มจากการเป็นผู้แทนยา เป็น product manager ก่อนจะมาเริ่มงานกับบริษัท P&G ในตำแหน่งหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกฏระเบียบต่าง ๆ ของเครื่องสำอาง หลังจากนั้นบริษัทก็ขยายความรับผิดชอบให้ดูแลในส่วนของการทำงานร่วมกับทางขององค์การภาครัฐ ภาคเอกชน ได้ร่วมทำงานกับทางสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทกับภาคส่วนอื่น ๆ ก่อนจะได้มาดูแลในส่วนของภาพรวมขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสานต่อกิจกรรมโครงการ CSR ซึ่งบริษัทถือว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่จะสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม จึงถือเป็นภารกิจและมีเป้าหมายในการดำเนินการในสามด้าน สังคม-สิ่งแวดล้อม-และเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักองค์กรพีแอนด์จี ความผูกพัน และให้ความเชื่อมั่น เช่นเดียวกันกับแบรนด์สินค้าภายใต้ พีแอนด์จี
พูดถึงเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) หลายคนมองเป็นเรื่องของการจัดฉาก เพื่อถ่ายรูปออกสื่อ ไม่ได้สร้างผลที่ยั่งยืน อยากให้พี่เกียงอธิบายในฐานะที่ดูแลโครงการ CSR ของบริษัทนิดหนึ่งครับ
CSR ใน P&G เราไม่ได้แค่เฉพาะออกสื่ออย่างฉาบฉวย แต่ว่าเราถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความเจริญเติบโต ความยั่งยืนขององค์กรของธุรกิจ ในโครงการ CSR ต่าง ๆ ล้วนมีจุดยืนในเรื่องของ touching lives, improving life ความมุ่งมั่นของการที่เราดำเนินธุรกิจ ก็เพื่อที่จะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ของผู้คนทั่วโลกด้วย แล้วก็ส่วนหนึ่งเรื่องของความรับผิดชอบ อย่างที่เห็นชัดในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิต เราก็จะผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ในขณะเดียวกัน บรรจุภัณฑ์ของสินค้าก็จะกลายเป็นภาระของชุมชน ภาระของสิ่งแวดล้อมไปด้วย เพราะฉะนั้นนอกจากในมุมมองของการที่เราจะผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดแล้ว เราก็จะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนด้วย การออกแบบผลิตภัณฑ์ของเราจะพยายามที่จะลดในเรื่องของ footprint ต่าง ๆ รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องของ CSR ก็เป็นโครงการที่จะพยายามที่จะนำประโยชน์กลับมาสู่ชุมชน
อย่างโครงการล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ โครงการสนามเด็กเล่น recycle ซึ่งทำขึ้นเพื่อที่จะมอบให้กับเด็ก ๆ กลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งคือกลุ่มเด็กพิการ พิการทางด้านร่างกาย พิการด้านสายตา หู ปัญญา สติปัญญา รวมไปถึงกลุ่มเด็กที่มีปัญหาเรื่องของการเรียนรู้ช้าด้วย หรือเด็กออทิสติก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ P&G ให้ความสำคัญในเรื่องของการให้โอกาสการพัฒนาตั้งแต่พื้นฐาน สุขอนามัย และความเชื่อมั่นให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ในสังคมอย่างเป็นปกติสุข อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เลือกปฏิบัติ โครงการนี้เราก็จับมือร่วมกันกับอีกหลายพันธมิตร โดยที่จุดเด่นก็คือว่าเราเอาขวดแซมพูของเราที่ใช้แล้ว เป็นของเสียที่เกิดขึ้นในส่วนของโรงงาน ในส่วนของบ้านเรือน นำมาย่อย มาบด ป่น ผสมสารปรับสภาพต่างๆ สีตามมาตรฐานสากล ขึ้นเป็นเม็ดพลาสติกก่อนที่จะนำไปขึ้นรูป หล่อ เป็นชิ้นส่วนของเครื่องเล่นในสนามได้อย่างสีสันสวยงาม ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งตรงนี้จะกระตุ้น และปลูกจิตสำนึกในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ประชาชนเข้าใจว่าขวดแชมพูพลาสติกของ P&G หรือบรรจุภัณฑ์จากอุตสาหกรรมพลาติก ไม่ใช่ขยะ สามารถที่จะกลับมา recycle แล้วสร้างประโยชน์ได้อีกหลาย ๆ ครั้ง โดยโครงการนี้เราจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน(3R) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ส่วนคำถามที่ว่าเป็นการสร้างภาพหรือเปล่า อย่างที่กล่าวมาข้างต้น CSR เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรพีแอนด์จี นั่นหมายถึงเราให้ความสำคัญ มีแผนงาน เป้าหมาย และการรายงานถึงความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการก่อตั้งมูลนิธิพีแอนด์จีประเทศไทยเพื่อสังคม เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินกิจกรรม CSR อย่างต่อเนื่อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ และร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นหุ้นส่วนหรือ Partnership ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของ P&G สำหรับดำเนินการโครงการ CSR ต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเกิดพลังบวกให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ร่วมกัน
จากประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย อะไรคือปัจจัยที่ทำให้กล้ารับโอกาสใหม่ ๆ แม้จะไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองเคยเรียน หรือมีประสบการณ์มาก่อน
พี่คิดว่าอย่างแรกคือ องค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น P&G เป็นองค์กรที่ให้โอกาสพนักงานทุกคน ในเรื่องของศักยภาพ ความสามารถ รวมถึงมีทีมงานมืออาชีพที่จะช่วย ในระบบของ coaching ระบบของ training ต่าง ๆ ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะปลดปล่อยเรื่องของศักยภาพได้เต็มที่
แล้วก็อีกอย่างหนึ่งรู้จักจุดแข็งของตัวเอง ยกตัวอย่าง พี่มีมุมมองที่แตกต่างจากคนที่ทำงานทางด้านของสื่อสารมวลชน เพราะจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์ การที่เราจะไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ที่เขาจบสายวิทยาศาสตร์มา เราก็สามารถพูดคุยได้หมด คุยกับคุณหมอก็ได้ คุยกับวิทยาศาสตร์ก็ได้ เพราะว่าสินค้าเราก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เราสามารถที่จะใช้ความรู้ องค์ความรู้ของเราสื่อสารพูดคุยกับคนที่เป็นทางด้านเทคนิค แล้วก็พูดคุยกับประชาชนทั่วไปได้
เมื่อไหร่ที่เราจุดแข็งของเรา บวกกับโอกาสก็คือบริษัทให้เราทำ เราก็อยากจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในหน้าที่ หรือโอกาสใหม่ที่เข้ามา แล้วขยายผลต่อยอดขึ้นไป ซึ่งปัจจัย 2 ส่วนนี้จะช่วยเติมเต็ม แล้วก็สร้างประโยชน์ได้
ด้วยตำแหน่งที่เปรียบเสมือนหน้าตาขององค์กร มีเคล็ดลับในการวางตัว หรือบุคลิกภาพแนะนำน้อง ๆ สำหรับการทำงานบ้างครับ?
ส่วนตัวพี่เกียงคิดว่าเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด ที่ทุกวันนี้เห็นก็ของจริงทั้งในจอ นอกจอ ก็คือจะเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็มีความสม่ำเสมอ สิ่งสำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องเป็นแบบใคร เป็นแบบของเราเองดีที่สุด
ผมจำได้ว่าพี่ทำงานใน P&G มานานพอสมควรแล้ว
จะครบ 17 ปีแล้วค่ะ
พี่มีเคล็ดลับในการทำงานกับองค์กรไปยาว ๆ โดยไม่ต้องย้ายองค์กรบ้างครับ
อันนี้เป็นคำถามที่ดีมาก สำหรับตัวเอง พี่จะถามตัวเอง 2 ข้อ คือ หนึ่ง งานนี้ใช่สำหรับเราหรือเปล่า? เราชอบ และเชื่อในตัวงานมั้ย งานนี้เป็นประโยชน์กับตัวเองไหม? ถ้าผ่านข้อแรก คำถามอีกข้อคือ เราสามารถที่จะหาโอกาสจากงานที่เราทำเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับคนอื่นด้วยหรือเปล่า? ถ้าเราเชื่อในตัวบริษัท และตัวงานที่เรารับผิดชอบอยู่ว่าสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ เราก็สบายใจ และอยากจะทำงานกับบริษัทนี้ไปนาน ๆ
หลังจากถามตัวเอง 2 ข้อนี้ แล้วก็ค่อยไปดูเรื่องเพื่อนร่วมงาน และวัฒนธรรมองค์กรเป็นอันดับต่อ ๆ มา แต่หลัก ๆ คิดว่าน่าจะถามตัวเอง 2 ข้อนี้ก่อน
ในฐานะที่เป็นทั้ง working woman และเป็นคุณแม่ของลูกสาวที่น่ารักอีก 3 คน พี่เกียงมีเคล็ดลับในการจัดการเวลาอย่างไร ทั้งเรื่องงาน เรื่องครอบครัว
พี่เน้นให้เวลาแบบมีคุณภาพมากกว่า คืออาจจะไม่ได้มีเวลาให้ลูกทุกวัน บางวันก็ยุ่ง ไม่ได้คุยกับลูก แต่ต้องคิดว่าเฉลี่ยต่อเดือน หรือเฉลี่ยต่ออาทิตย์ เราต้องทำอะไรอยู่ด้วยกัน เฉลี่ยต่อเดือนต้องมีกิจกรรมร่วมกันบ้าง
คำถามข้อสุดท้าย ถ้าสมมติพี่เกียงนั่ง time machine กลับไปเจอตัวเองตอนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ พี่อยากจะบอกอะไรกับตัวเอง
พี่ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่ค่อยดูตัวเองย้อนหลัง สิ่งที่ผ่านมา มันคือประสบการณ์ที่เราสะสมมา แล้วพี่ก็มีความสุข พอใจกับประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะตัดสินใจถูก หรือตัดสินใจผิดพลาดอะไร พี่ไม่ได้รู้สึกว่าพี่อยากจะย้อนเวลาไป ก็คงบอกตัวเองว่าต้องกล้าหาญกับสิ่งที่ต้องทำ เพราะพี่มีความสุขกับสิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี เรื่องร้าย ก็ถือว่าเป็นบทเรียนให้เราแข็งแกร่งขึ้นด้วย
____________________________________________________________
ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามสั้นๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงานทุกเช้าวันจันทร์