เก็บตกงาน Give&Take ครั้งที่ 8: THAI Story

Reflection / 18 February 2014 / 281

thank you

“ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ”

อ.ไชยยศ ปั้นสกุลไชย กล่าวต้อนรับผู้ชมสู่งานทอล์คการกุศล Give&Take ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ THAI Story เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 กุมภาพันธ์)

งานนี้ต้องบอกว่าคุ้มจริงๆเพราะนอกจากได้มุมมอง แง่คิด จากวิทยากรหลากหลายอาชีพ แล้วรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดยังได้ร่วมสมทบทุน มูลนิธิพระดาบส

ทอล์คการกุศลนี้ ได้ 20 วิทยากร โดย 10 ท่านเป็นลูกศิษย์ อ.ไชยยศ และอีก 10 ท่านเป็นวิทยากรชั้นนำจากหลากหลายอาชีพ โดยแต่ละท่านมีเวลาเพียง 15 นาที ในการนำเสนอ ซึ่งสำหรับวิทยากรส่วนใหญ่ที่มักจะบรรยายทีละหลายๆชั่วโมง ถือเป็นเรื่องท้าทายทีเดียวเลยที่จะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาในเวลาที่จำกัดแบบนี้

ทุกท่านล้วนมีมุมมองนำเสนอที่น่าสนใจ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างบางท่าน มาเป็นตัวอย่าง

image_1อ.สวยศ ด่านบรรพต มาในชุดโปรกอล์ฟ พร้อมเทคนิคในการเรียนรู้ทุกอย่างผ่าน G.O.L.F.

G: Guru

เรียนรู้จากกูรู หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งอาจเป็นคน หรือหนังสือ หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต หรือ YouTube ก็เป็นครูเราได้

O: Over&Over again

เมื่อรู้วิธีการแล้ว ก็ต้องฝึก ฝึกแล้วฝึกอีก อ.สวยศ ยกตัวอย่างเวลาเรียนตีกอล์ฟ 1 ชั่วโมงนั้น เราควรไปซ้อมก่อนเริ่มเรียน 1 ชั่วโมง เรียน 1 ชั่วโมง และซ้อมหลังเรียนอีก 1 ชั่วโมง

L: Lessons Learned

ซ้อมแล้วก็ต้องลงสนามจริง เพื่อให้เจอปัญหา และเรียนรู้จากการทำหรือปฏิบัติจริงๆ

F: Feedback

สุดท้ายก็ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากผู้อื่น เพื่่อปรับปรุงในส่วนที่เราทำไปแล้วผิต แต่ยังมองไม่เห็น

 

อ.ทวีวรรณ กมลบุตร (อ.A) กับในหัวข้อ Little Voice หรือเสียงเล็กๆในใจเรา ที่จะมาทุกครั้งที่เราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือลองอะไรใหม่ๆ

จะมีเสียงทั้งด้านบวก และด้านลบ เข้ามาและหลายครั้ง เสียงด้านลบมักจะเสียงดังกว่าด้วยเหตุผลที่ดูมีน้ำหนักว่าจนเราไม่ได้เริ่มสิ่งใหม่ๆ

อ.A แนะนำให้หาเหตุผลด้านบวก ให้ได้มากกว่าด้านลบ และแนะนำให้ตั้งโปรแกรมเก็บเสียงด้านบวกให้กับตัวเอง ด้วยการบอกตัวเองทุกๆเช้า ว่า

“ฉันเก่ง ฉันทำได้ ฉันมั่นใจ”

 

อ.สุวัชชัย แก้วทรัพย์ศักดิ์ (อ.โจ้) มาแบ่งปันมุมมองของการ เปิดรับโอกาสดีๆให้ชีวิต

คนส่วนใหญ่ไม่เคยให้โอกาสตัวเองที่จะลอง แต่กลับบอกว่าทำไม่ได้ ซึ่งจริงๆมันอาจเป็นเพราะเราไม่ชำนาญ ไม่เคยฝึก เช่นเดียวกับการลองเขียนหนังสือด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เราอาจเขียนได้ไม่ดี แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ถ้ามีโอกาสได้ฝึก ก็จะเขียนได้ดีขึ้น

 

ช่วงบ่ายมีวิทยากรระดับมืออาชีพอีก 10 ท่าน มาแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ โดยอยู่ในกรอบเวลา 15 นาทีเช่นกัน

ขอแบ่งปันสิ่งที่ผมจับประเด็นที่ประทับใจในแต่ละท่าน ดังนี้

อ.สุพรรณิการ กุสุมาวลี (What’s eating you?)

  • จากประสบการณ์การสอน presentation skill มักจะสนใจเรื่อง เนื้อหา (Content) กับวิธีการนำเสนอ (Style) แต่อีกปัจจัยนึงที่หลายคนมีปัญหาคือ ความตื่นเต้นในการนำเสนอ
  • สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับความตื่นเต้นในการนำเสนอ คือ 1) คนอื่นก็เป็น  2) ไม่สามารถทำให้หายได้ แต่จะทำให้ลดลงได้
  • วิธีจัดการกับความตื่นเต้น 1) เปลี่ยนมุมมองให้เป็นความท้าทาย หรือเป็นโอกาสที่ได้เสนอกับผู้ใหญ่ หรือคนอื่น 2) สะกดจิตตัวเอง 3) ซ้อมเยอะๆ 4) วิเคราะห์ผู้ฟัง

คุณพีระณัฐ (โทนคุง) จำปาเงิน (Keep Walking)

  • ต้นทุนชีวิตแม้สู้คนอื่นไม่ได้ ก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น
  • สร้างความแตกต่างชัดเจน ให้คนอื่นจำได้
  • ไม่ย่อท้อ ยอมแพ้ แม้จะถูกปฏิเสธ
  • แมวมองมีอยู่ทุกที่ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานต้องเต็มที่เสมอ

อ.สมสิทธิ์ มีแสงนิล (ศิลปะการใช้ชีวิตร่วมกัน)

  • แต่ละคนมีลักษณะที่ต่างกัน ควรเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อปรับตัวในการใช้ชีวิตร่วมกัน
  • อ.สมสิทธิ์ ยกตัวอย่างคนเป็น 4 ประเภท ด้วยตัวการ์ตูน พร้อมชื่อน่ารัก ประกอบด้วย น้อง Dun (ดัน..ทุรัง) น้อง Ivy (Innovative) น้อง Sugar (ใจดี มีแต่ให้) และน้อง Cut (ชอบกฏ เน้นระเบียบ)

อ.ธงชัย โรจน์กังสดาล (อย่าปล่อยให้ไอเดียหลุดลอย)

  • ไอเดีย มักเกิดขึ้นเวลาไม่ตั้งใจ เราซึ่งควรมีอุปกรณ์ในการบันทึกให้พร้อม ซึ่งอาจเป็นสมุดบันทึก กับปากกาธรรมดา หรือ smart phone รุ่นล่าสุดที่บันทึกภาพ เสียง พร้อม วีดีโอก็ได้
  • จากการวิจัย การเขียน เป็นการสื่อสารกับสมองโดยตรง ซึ่งจะช่วยในการจำได้ดีขึ้น
  • กฏ 3 ข้อ จด จำ แจก, ไอเดียมากมายถ้าไม่จดแล้วก็จะลืม จำ ด้วยการอ่านสิ่งที่จด และแจกไอเดียผ่านสื่อต่างๆ ทั้งการบอกต่อ เขียน blog ผ่าน Facebook, YouTube เพื่อให้มีการต่อยอดทางความคิด ที่หลายครั้งเราอาจทำไม่ได้ แต่ไอเดียเราจะไปจุดประกายและเป็นประโยชน์กับคนอื่นต่อ
  • สร้างนิสัยสร้างสรรค์ ด้วยการ ตั้งโปรแกรมหรือ App ให้ตัวเราเอง If… Then ถ้าฉันเกิดไอเดีย ฉันจะรีบจดทันที

คุณสุนทรา สัจจะวัชรพงศ์ (ไข่ตุ๋น)

  • ไข่ตุ๋น เป็นสุนัขพันธุ์พิทบูลที่เคยกัดคุณยายท่านหนึ่งจนเสียชีวิต แต่เมื่อได้รับความรัก การดูแล และการฝึกอย่างถูกวิธีก็กลายเป็นสุนัขที่เชื่องและน่ารักได้
  • สิ่งที่คุณสุนทราได้เรียนรู้และมาแบ่งปันจากการเลี้ยงสุนัข มีอยู่หลายเรื่อง แต่สรุปคือ จงอดทน เชื่อมั่น รอคอย และให้โอกาส ซึ่งผมว่าหลายคนที่เคยพลาด และถูกตัดสินการกระทำในอดีตจากสังคมก็ต้องการ ความรู้สึกนึ้เหมือนกัน

นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล (เรียนรู้เรื่องรัก…รู้จักชีวิตคู่)

  • คุณหมอปล่อยมุกพรั่งพรูมากจนจดไม่ทัน ขำกระจาย จำได้แต่วงกลม  2 วง (Love, Sex) ที่มีจุดร่วมตรงกลาง
  • Sex without love = have sex
  • Sex with love = make love
  • Love without sex = Compassion
  • Love with sex = passion

อ.วิเชียร ไชยบัง (นอกกะลา คือ ปาฏิหาริย์)

image_7

  • อ.วิเชียร ครูใหญ่โรงเรียนนอกกะลา มาเล่าถึงแนวคิด และวิธีการสอนของโรงเรียนที่อาจฟังดูแปลกสำหรับคนที่อยู่ในการศึกษากระแสหลัก
  • การเรียนที่ไม่มีเสียงระฆังเข้าเรียน ไม่มีการสอบ ไม่มีการเปรียบเทียบ แต่เน้นให้มีความรู้ ความเข้าใจ ตั้งคำถาม และเห็นความเชื่อมโยงของ เพื่อเข้าใจแก่นแท้ของศาสตร์ต่างๆ

ผศ.ดร.วาสิตา บุญสาธร (The Power of Appreciation)

  • ใครๆก็ต้องการการชื่นชม ซึ่งผลของการชื่นชมในองค์กร คือ รักษาคน สร้างทีม สร้างผลงาน
  • วิธีการชื่นชม ทำได้ง่ายและหลากหลาย แต่สำคัญที่เราเห็นคุณค่าของคนนั้นจริงๆ

ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด (Where we hide? Why we here?)

   image_10

  • เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น จะเกิดความคิด กับอารมณ์ ซึ่งจะเสริมซึ่งกันและกันหนาขึ้นเรื่อยๆ เสมือนชั้นของหัวหอม
  • วิธีรับมือที่ดีที่สุด คือการมีสติ รู้ตัว ไม่ไปวิ่งตามความคิดและอารมณ์

อ.ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ (โค้ชคร่อมกรอบ)

  • คิดไม่ออก หรือ คิดแล้วไม่ยอมให้เราออก
  • กรอบมีหลายชั้น เริ่มจากกรอบความคิดของตัวเอง ขององค์กร จนไปถึงกรอบของสังคม
  • ถ้าคิดนอกกรอบสังคมเกินไป อาจทำไม่ได้จริง เพราะสังคมไม่ยอมรับ
  • คนส่วนใหญ่ติดกรอบเพราะความกลัว ให้ถามตัวเอง 1) เรากลัวอะไร? 2) แล้วไง? 3) ที่กลัวนี่จริงรึปล่าว?

 

image_11 resize

สุดท้าย ผมขอขอบคุณอ.ไชยยศ อีกครั้งที่จัดงานดีๆแบบนี้นะครับ ผมเชื่อว่าการให้ แม้ไม่หวังอะไร ก็ได้กลับไปในรูปต่างๆทุกคน ผมเขียน blog นี้ก็เหมือนการ pay it forward สำหรับคนที่ไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงาน จะได้รับรู้ความตั้งใจดีของผู้จัดงาน และวิทยากรทุกท่านที่มาแบ่งปันเรื่องราวดีๆกัน

สุดยอดครับอาจารย์!

สุดยอดครับอาจารย์!