เด็กฝึกงาน ใครคิดว่าไม่สำคัญ?

Reflection / 10 July 2011 / 304

[หลังจากบทความเรื่อง Treat your intern right! ที่เขียนลง The Nation คอลัมน์ Tweeple’s Corner วันอาทิตย์ที่ผ่านมา นึกขึ้นได้ว่าน่าจะแปล(บทความตัวเอง)เป็นภาษาไทย ให้อีกหลาย ๆ คนได้อ่านด้วย ออกตัวไว้ก่อนว่าการแปลนี้ไม่ได้แปลคำต่อคำ จึงมีการตัดและเพิ่มตามความพอใจ เพราะได้รับอนุญาตจากเจ้าของบทความแล้ว :P ]


ทุกๆปี น้องๆนิสิต นักศึกษาปี 3 ส่วนใหญ่จะใช้เวลาปิดเทอมใหญ่ไปฝึกงาน ซึ่งบ้างก็ทำเพราะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร (ไม่ทำไม่จบว่างั้น) บ้างก็ต้องการสร้าง portfolio สวย ๆ สำหรับทำงาน/เรียนต่อ หรือต้องการอยากได้ประสบการณ์ทำงานจริง ๆ

แต่คุณรู้รึปล่าวว่าเด็กฝึกงานเค้าทำอะไรกัน?

ผมเชื่อว่าเราอาจเคยได้ยินตั้งแต่ไม่มีอะไรให้ทำ ชงกาแฟ ถ่ายเอกสาร ไปจนถึงทำงานที่มีคุณค่ามากๆประหยัดให้องค์กรเป็นล้าน และทำให้พี่พนักงานประจำหลายคนเริ่มร้อนๆหนาวๆกับเก้าอี้ตัวเอง… ^^”

ด้วยงานที่ทำอยู่ ทำให้ผมเห็นความสำคัญของโครงการนักศึกษาฝึกงาน ทั้งต่อตัวเด็กเอง และต่อบริษัทด้วย สำหรับน้องนิสิต-นักศึกษา นี่เป็นโอกาสแรกๆที่จะได้สัมผัสชีวิตการทำงาน ที่เราจะต้องเจออีกค่อนชีวิตหลังจากที่เราเรียนจบ ซึ่งการเรียนได้คะแนนดีๆ เกรดสวยหรูไม่ได้รับประกันความสำเร็จในการทำงาน (เป็นได้อย่างมากก็แค่ใบเบิกทางที่ดี)

นอกจากนั้นน้องจะได้ฝึกเปลี่ยนจากการแก้ปัญหาจากโจทย์ มาเป็นตั้งโจทย์ (และแก้ปัญหา)เอง และยังเป็นโอกาสที่จะได้คิดว่านี่คือลักษณะงาน หรือบริษัทที่อยากทำหลังจากจบหรือไม่ แถมถ้าโชคดีบางบริษัทก็จ่ายค่าตอบแทนน้องๆฝึกงานดีจนเพื่อนอิจฉาทีเดียว

สรุปว่าน้องๆมีแต่ได้กับได้กับการฝึกงาน แล้วบริษัทที่รับน้องๆเข้ามาล่ะ จะได้อะไรบ้าง?

หลายๆบริษัทไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่หรือมีความสำคัญถึงขนาดต้องเตรียมอะไรให้ยุ่งยาก มองเด็กฝึกงานเป็นเหมือนแรงงานราคาถูก(หรือฟรี) เลยให้งานที่ไม่มีใครอยากทำ

สุดท้ายสิ่งที่บริษัทได้ก็คือ การตอกย้ำกว่าเด็กฝึกงานไม่มีคุณค่าพอกับการลงทุนสำหรับน้องกลุ่มนี้

แต่… ถ้าบริษัทให้ความสำคัญกับทรัพยากรรุ่นเยาว์เหล่านี้โดยการให้การอบรม การงานที่เหมาะสมและมีค่า พร้อมกับคนให้คำแนะนำตอนช่วงเวลาสั้นๆของการฝึกงาน

คุณจะแปลกใจกับสิ่งที่ได้กลับมา

ไม่ว่าจะเป็น…

เงินที่ประหยัดได้จากโครงการต่างๆที่บริษัทไม่มีเวลาศึกษาหรือนำมาใช้ ซึ่งเหมาะกับนักศึกษาฝึกงานที่จะสามารถทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ มุมมองใหม่ๆจากคนนอก หลายครั้งที่ปัญหาประเภทเส้นผมบังภูเขาสามารถแก้ได้ง่ายๆด้วยการนำคนที่ไม่เคยชินกับปัญหา หรือกรอบของบริษัทเป็นคนมอง

เวลาที่บริษัทจะได้ “ดู” ว่านิสิต-นักศึกษาคนนี้เหมาะกับองค์กรในอนาคตหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากสังเกตการทำงานจริงย่อมดีกว่าการสัมภาษณ์ในเวลาสั้นๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่ถ้าบริษัททำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

น้องๆที่ผ่านการฝึกงานไปจะเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทบอกต่อไปยังคนรอบตัวที่รู้จัก โดยเฉพาะในยุค social media ที่ทุกอย่างทั้งดีและไม่ดีกระจายได้เร็วและแรง บริษัทคงไม่อยากเห็นเด็กฝึกงานของบริษัทเขียนบน Facebook, Twitter, Google+ ว่า

“น่าเบื่อมากกกก ฝึกงานที่xxxแล้วนั่งชงกาแฟแล้วก็ Facebook ทั้งวัน เสียดายเวลา max T___T”

ใช่มั้ยครับ?


ถ้าชอบบทความนี้ คุณอาจจะสนใจ Monday’s Spark with Chutchapol.com ซึ่งผมคัดไอเดียเจ๋งๆ คำถามโดนๆ มาช่วยกระตุ้นพลังการทำงานทุกเช้าวันจันทร์

Click Here to Subscribe